นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน พฤศจิกายน 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ |
ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนพฤศจิกายน |
จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 5,539 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 6,197 ราย ลดลงจำนวน 658 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของการจดทะเบียนในช่วงสิ้นปีที่มีลักษณะตามแนวโน้มฤดูกาล (Seasonal Trend) ที่ลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 6,597 ราย ลดลงจำนวน 1,058 ราย คิดเป็นร้อยละ 16 เนื่องจากปีที่ผ่านมา การจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลของกรมสรรพากร
- ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 534 ราย คิดเป็น ร้อยละ 10 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 381 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
- มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 75,167 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 19,962 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 55,205 ล้านบาท คิดเป็นสามเท่า และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 68,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 6,705 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 3,698 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.77 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,705 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.78 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.11 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.34 โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 2 ราย คือ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าทุน 56,780 ล้านบาท และธุรกิจโรงแรม มูลค่าทุน 1,040 ล้านบาท
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่สะสม จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 61 มีจำนวน 68,007 ราย ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ย. 60) จำนวน 68,212 ราย โดยลดลงเล็กน้อย จำนวน 205 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.3 สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 61 มีจำนวน 335,615 ล้านบาท ลดลง 37,091 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ย. 60) จำนวน 372,706 ล้านบาท
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนพฤศจิกายน |
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 30 พ.ย. 61) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน714,478 ราย มูลค่าทุน 17.77 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 183,014 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.62 บริษัทจำกัด จำนวน 530,246 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.21 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,218 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 425,611 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.57 รวมมูลค่าทุน 0.37 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.08 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 205,678 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.79 รวมมูลค่าทุน 0.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.77 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 68,497 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.59 รวมมูลค่าทุน 1.85 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ10.41 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14,692 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.05 รวมมูลค่าทุน 14.88 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.74 ตามลำดับ
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนพฤศจิกายน |
- จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,482 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 2,166 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 316 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 และเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 2,306 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ซึ่งเป็นไปในลักษณะตามแนวโน้มฤดูกาล (Seasonal Trend) ที่จำนวนธุรกิจ เลิกประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี
- ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 207 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 141 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 64 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
- มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 8,754 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 10,088 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,334 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 และ เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 7,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,236 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16
- ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 1,710 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.90 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 641 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.83 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 121 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.88 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 10 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.40
- ธุรกิจเลิกสะสม จำนวนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 61 มีจำนวน 16,264 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 582 ราย คิดเป็นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ย. 60) จำนวน 15,682 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจเลิกสะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 61 มีจำนวน 81,163 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,738 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับของปีที่ผ่านมา (ม.ค. – พ.ย. 60) จำนวน 73,425 ล้านบาท
ภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจตลอดปี 2561 |
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ย.61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวนทั้งสิ้น 68,007 ราย ซึ่งมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งใกล้เคียง กับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจในกลุ่มก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร เป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ที่มีการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาในประเทศไทย โดยภาพรวมตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. 2561 ยังคงเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา รวมทั้งเสถียรภาพทางด้านการเงินที่สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินไว้ที่ร้อยละ 1.5 (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย) ถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการสนับสนุนการเจริญเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจจัดตั้งใหม่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.- พ.ย. 61) ลดลงเล็กน้อย จำนวน 205 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.30 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.- พ.ย. 60) จำนวน 68,212 ราย เนื่องจาก ในปี 2560 ภาครัฐได้มีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล โดยการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่สำหรับในปี 2561 เพิ่งมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าว เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้
ทั้งนี้ กรมจะได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง จะสนับสนุนและส่งเสริมให้นิติบุคคลมีศักยภาพในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารองค์กร การจัดการทางการเงิน การตลาด โดยจะบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยธุรกิจ และ startup ต่างๆ เพื่อให้นิติบุคคลเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยี โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งการเป็นนิติบุคคลจะได้รับสิทธิประโยชน์และมีโอกาสเพิ่มขึ้น เช่น ด้านการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน การมีโอกาสเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจอีกด้วย
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือน พฤศจิกายน 2561
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อ ลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษในการประกอบธุรกิจ โดยได้พัฒนางานบริการทุกกระบวนการของกรม ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยสรุปงานบริการต่างๆได้ดังนี้
e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 9,804 ราย โดยปี 2561 (ม.ค.-พ.ย.) มีการจดทะเบียนทาง e-Registration จำนวน 6,667 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยงเพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์
e-Secured การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Web Application และ Web Service โดยตั้งแต่ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 315,926 คำขอ คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 5.5 ล้านล้านบาท และได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมต่อการประเมินมูลค่าของไม้เศรษฐกิจที่จะส่งผลให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม
e-Service การบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขอรับเอกสารได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) เมื่อสิงหาคม 2561 เพื่อให้สามารถจัดส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ยื่นขอผ่านทางอีเมล์ โดยมีผู้ใช้บริการ E-Certificate File แล้วจำนวน 8,178 ราย
e-Certificate การบริการหนังสือรับรองและสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคลผ่านธนาคาร 9 ธนาคารได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต มิซูโฮ กรุงศรีอยุธยา และเกียรตินาคิน ซึ่งมีสาขาให้บริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 4,043 สาขา โดยธนาคารธนชาตได้มีการเพิ่มสาขา ณ โรบินสันสาขาชลบุรี และปิดการให้บริการสาขาเพชรบูรณ์
DBD e-Filing ระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมได้เปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ในปีงบการเงิน 2560 มีนิติบุคคลส่งงบการเงินทาง DBD e-Filing จำนวน 479,563 ราย (ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) คิดเป็นร้อยละ 91 ของนิติบุคคลที่นำส่งงบการเงินแล้ว กรมมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการโดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการวิธีการส่งงบการเงิน และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ผ่านระบบ DBD e-Filing โดย ไม่เสียค่าใช้จ่ายและสมัครได้ที่ www.dbd.go.th ในการส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นให้ปฏิบัติตามกฎหมาย คือ ภายใน14 วัน นับแต่วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น นอกจากนี้กรม ได้ออกประกาศให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถนำส่งบัญชีรายชื่อ ผู้ถือหุ้นและรายงานประจำปีในรูปแบบ URL หรือ QR Code ผ่านทาง DBD e-filing
DBD e-Accounting กรมได้ดำเนินการแจก“โปรแกรม e-Accounting for SMEs” ซึ่งเป็นโปรแกรม ที่มีการทำงานแบบครบวงจรเพื่อช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานบัญชีผ่าน Cloud Computing พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวน 15 ราย
DBD e-service บริการการตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคล งบการเงิน ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สมาคมการค้าและหอการค้า ข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ ผ่าน Application โดยได้เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้บริการกว่า 10.4 ล้านราย ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มอบของขวัญปีใหม่ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเนื่องในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ โดยการขยายเวลาและเพิ่มวันทำการให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลและบริการข้อมูลธุรกิจ ในเดือนธันวาคม 2561 ตั้งแต่วันที่ 22-28 ธันวาคม 2561 (จันทร์-ศุกร์) ในเวลา 08.30-18.00 น. ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และเปิดทำการพิเศษในวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2561 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถติดต่อขอใช้บริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในช่วงส่งท้ายปี 2561
****************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ