“โคก หนอง นา พช.อ่างทอง” ความสำเรฺ็จที่จับต้องได้

วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสุธีธ์ มั่งมี เลขานุการกรม กรมการพัฒนาชุมชน พร้อมคณะ ลงพื้นที่ถ่ายทำวีดีทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินงาน และความสำเร็จ การดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” โดยมี นายทินกร บุญเงิน พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง ว่าที่ร้อยโทอรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอไชโย ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอไชโย เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบฯ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ ร่วมต้อนรับ และให้ข้อมูล ณ พื้นที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง

ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ทั้ง 7 ภาคี (ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และภาคสื่อมวลชน) น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้หมู่บ้านเป็นฐานของการพัฒนา มุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ทุกครัวเรือน และพัฒนาคนให้มีความรู้และปรับตัวให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีอาชีพ สร้างรายได้ ท่ามกลางวิกฤติโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดทำโครงการที่ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชาและน้อมนำเอาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 40 ทฤษฎี ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์กับแนวคิกการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา สร้างการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะกับหมู่บ้านในภูมิสังคมต่างๆ ผ่านการทำงานในรูปแบบการจ้างงาน และการร่วมกันลงแรงด้วยการสนับสนุนวัสดุพื้นฐาน งบประมาณและบูรณาการการทำงานจากภาคีภาคส่วนต่างๆเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชนผ่านโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา”

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”วงเงินงบประมาณ 4,787,916,400 บาท โดยดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน

นายทินกร บุญเงิน พัฒนาการจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า จังหวัดอ่างทองได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน 2,576,800 บาท จำนวน 44 แปลง แบ่งเป็น ขนาด 1 ไร่ จำนวน 34 แปลง ขนาด 3 ไร่ จำนวน 10 แปลง โครงการพัฒนากิจกรรมการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน 5,474,400 บาท จำนวน 99 แปลง แบ่งเป็น ขนาด 1 ไร่ จำนวน 82 แปลง ขนาด 3 ไร่ จำนวน 17 แปลง แนวทางการดำเนินงานของจังหวัดอ่างทอง ประกอบไปด้วย การวางแผนและออกแบบแปลนพื่นที่ตามภูมิสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่าย ช่างผู้ออกแบบในพื้นที่ ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถลดปัญหาจากภัยแล้งในพื้นที่โครงการได้ มีการให้ความรู้ คำแนะนำ ในการจัดหาพันธ์พืชพันธ์สัตว์ ให้มีความเหมาะสมกับภูมิสังคม ตรงตามความต้องการของครัวเรือน สร้างสมดุลระบบนิเวศ และสร้างรายได้แก่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ลดปัญหาความยากจน และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การพัฒนาพื้นที่่ให้เอื้อต่อการใช้งาน ด้วยการนำศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ด้านการฟื้นฟูดิน ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการใช้ประโยชน์ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ปรับพื้นทีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาชนให้ความสนใจ เดินทางเข้ามาเยี่ยมชมการดำเนินงาน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จะสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้รูปแบบ “โคก หนอง นา” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ว่าที่ร้อยโทอรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอไชโย กล่าวว่า นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก โดยกำชับให้นายอำเภอทุกอำเภอ ร่วมตรวจสอบการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส หลังจากดำเนินการปรับพื้นที่เสร็จแล้ว ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เงินที่ได้รับจัดสรรเกิดความคุ้มค่า และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับประโยชน์สูงสุด และอำเภอไชโยได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก จึงได้จัดทำแบบจำลอง “โคก หนอง นา” ซึ่งดำเนินงานตามแนวทางของมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ทั้ง 7 ภาคี ไว้ที่ด้านข้างบ้านพักอำเภอ และให้มีนักพัฒนาพื้นที่ฯ คอยตอบคำถาม ให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางมาเยี่ยมชม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานได้ต่อไป

นางอารี พุ่มปาน ครัวเรือนต้นแบบฯ กล่าวว่า “เมื่อก่อนทำงานเอกชน กำลังวางแผนใช้ชีวิตหลังเกษียณ อยากทำไร่ ทำสวน อยู่กับบ้าน เห็นประกาศจากการประชาสัมพันธ์ของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไชโย เลยมาสมัครเข้าร่วมโครงการ หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล ได้เรียนรู้วิถีเกษตรมากขึ้น สามารถทำน้ำหมักชีวภาพมาเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี แต่เดิมตรงนี้แล้ง หลังจากขุดบ่อ แต่ไม่พบตาน้ำ จึงได้ขออนุญาตเจาะบ่อบาดาล เพื่อนำน้ำที่ได้มาพักในบ่อ พอฝนตกลงมาก็จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี ตอนนี้มีความสุขมาก เพราะได้ทั้่งความรู้จากการอบรมมาพัฒนาการทำเกษตร และมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลน”

ครัวเรือนต้นแบบฯ กล่าวว่า “เดิมเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ชอบทำเกษตร ปัญหาคือไม่มีแหล่งน้ำส่วนตัว ต้องพึ่งคลองส่งน้ำ เปิดเจอใน Facebook เห็นพื้นที่โคก หนอง นา แล้วสวย อยากมีพื้นที่สวยๆ เหมือนในภาพ ประกอบกับผู้นำอช.อำเภอไชโย ได้มาชักชวนเข้าร่วมโครงการ พอเข้าร่วมโครงการ ทำให้ได้ความรู้จากการอบรมที่เป็นประโยชน์ ต่อการทำเกษตรมาก พอปรับพื้นที่เสร็จ ก็รีบปล่อยน้ำเข้าจนเต็มบ่อ แล้วปลูกพืชผักจนเต็มพื้นที่ และต่อจากนี้ไปจะเริ่มปลูกไม้ 5 ระดับ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ, ทฤษฎีบรรได 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ไว้”

📷✏️ ภาพข่าว/รายงาน : กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ✏️📷
📝 ทีม พช.อ่างทอง สร้างสุขชุมชน บนความสมดุลของชีวิต 📝