ศธ.เชิญดาวน์โหลดไฟล์สื่อ 65 พรรษาฯกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

“ตรีนุช” ปลื้มปิติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานอนุญาตให้เผยแพร่สื่อ 65 พรรษาฯ ชั้น ม.1-ม.3 ในคลังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สพฐ. พร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดไฟล์สื่อฯได้แล้ว ที่ https://contentcenter.obec.go.th/

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 ทำให้การเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ต้องเลื่อนออกไป ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เผยแพร่สื่อ 65 พรรษาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ดำเนินการตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน ลงในคลังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สพฐ. (OBEC Content Center) เป็นคลังความรู้ ให้แก่ครูผู้สอน และนักเรียน ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยขณะนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานพระราชานุญาตแล้ว ดังนั้น ครูผู้สอน นักเรียน ศึกษานิเทศก์ ทุกสังกัดทั่วประเทศ และผู้สนใจ จึงสามารถดาวน์โหลดไฟล์สื่อ 65 พรรษาฯ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ได้แล้ว โดยดาวน์โหลดทาง https://contentcenter.obec.go.th/

“ สื่อ 65 พรรษาฯ เป็นสื่อที่พัฒนาขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ 65 พรรษา เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยได้จัดทำสื่อการเรียนรู้ เป็นชุดการเรียนรู้สมบูรณ์แบบ (Comprehensive Learning Package) สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัด สพฐ.โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนพระปริยัติธรรม สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่งสื่อ 65 พรรษาฯนี้ เน้นการใช้บริบทชีวิตจริงของผู้เรียนและชุมชนเป็นฐานในการเรียน ทำการบูรณาการสาระตามหลักสูตรให้เชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตทั้งปัจจุบันและอนาคต ตามแนวพระราชดำริที่ทรงแนะนำให้ใช้โครงการศึกษาทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ และสอดคล้องกับหลักสูตรที่อิงมาตรฐานและเชื่อมโยงไปสู่สมรรถนะ รวมถึงเน้นการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมผู้เรียนรอบด้าน ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าต่อเนื่องในลักษณะการเรียนรู้ตามความสนใจได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.