วันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 09.00 น. นายสนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ มอบหมายให้ นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยนายสยัมภู แพงจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายเสกสรร ทองสุข วิศกรปฏิบัติการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบึงกาฬ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ โดยมี นางนันทพรรณ แสงสีอ่อน พัฒนาการอำเภอพรเจริญ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เจ้าของแปลง และผู้รับจ้างขุดปรับพื้นที่ ให้การต้อนรับและร่วมให้ข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงาน
นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยว่า จังหวัดบึงกาฬได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 5,367,200 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 55 แห่ง เป็นพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 55 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดบึงกาฬ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 46 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 28 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 18 แห่ง ในส่วนของอำเภอพรเจริญ มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ COVID ในพื้นที่ทั้งสิ้น 8 แปลง เป็น HLM ทั้งหมด (พื้นที่ 1 ไร่ 1 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 7 แปลง ) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 14 คน โดยได้รับงบประมาณโครงการฯ รวม 773,200 บาท
ทั้งนี้จากการที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดบึงกาฬ ได้ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ฯ ในพื้นที่แปลงของนายชัยยันต์ ชัยขัน บ้านเลขที่ 33 หมู่ที่ 2 บ้านโคกนิยม ตำบลวังชมภู อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3 ไร่ เป็นเอกสารสิทธิ์ สปก. 4-01 เลขที่ระวางเลขที่ 5059/13 โดยเลือกแบบในการสร้างพื้นที่ฯ มาตรฐาน 1:3 ดินร่วนปนทราย ซึ่งได้ขุดปรับเรียบร้อย 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ทั้งนี้นายสุรชัย โคตรบุตรดี นายอำเภอพรเจริญ ยังได้ส่งหนังสือแจ้งให้ทีมช่างโยธา องค์การบริหารส่วนตำบลวังชมภู และทีมงานของนายช่างโยธาทุกตำบล มาร่วมให้การสนับสนุนงาน เพื่อร่วมตรวจสอบความถูกต้อง เช่น รูปทรง ขนาดความยาว ปริมาตรดินขุด ให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดในครั้งนี้ด้วย โดยนายชัยยันต์ ชัยขัน เจ้าของแปลงฯ รู้สึกขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่มีการส่งเสริมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ให้ได้มีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้ครอบครัว ชุมชนสามารถลดรายจ่าย มีรายได้เพิ่มจากการปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งยังมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทานในครัวเรือน เมื่อเหลือก็ได้เผื่อแผ่แบ่งปัน ได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ และจะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกัน
โอกาสนี้ นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดบึงกาฬ ได้มอบแนวทางแก่นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ผู้รับจ้าง และเจ้าของแปลงที่เข้าร่วมโครงการฯ ว่า ขอให้คณะทำงานในระดับพื้นที่และผู้รับจ้างได้เร่งดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ โดยคำนึงถึงหลัก “ภูมิสังคมและหลักกสิกรรมธรรมชาติ” เช่น ลักษณะทางกายภาพ ดิน น้ำ ลม สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่อยู่ในพื้นที่นั้น สำหรับดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้น ให้นำมาทำโคก “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” และปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โดยการน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานและพระราชหฤทัยอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงนำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
สุดท้ายนี้ขอให้ฝากให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบติดตามสนับสนุนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด โดยเน้นย้ำในการพัฒนาคน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้ระดับตำบล ระดับพื้นที่ต้นแบบฯ เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาคนตลอดชีวิตทุกช่วงวัย ก่อให้เกิดผลดีต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน เป็นการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป