ประชาชนปลื้ม! พช. สานฝันชุมชนให้เป็นจริง พาชม Best Practice แปลงตัวอย่าง ตามหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา พช.” อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” บ้านโชครังสรรค์ หมู่ที่ 13 ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้รัฐบาล จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอสิรินธร มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ COVID ในพื้นที่ทั้งสิ้น 276 แปลง แยกเป็น HLM 275 แปลง (พื้นที่ 1 ไร่ 107 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 168 แปลง ) เเละ CLM 1 แปลง (พื้นที่ 15 ไร่ 1 แปลง) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จำนวน 20 คน โดยได้รับงบประมาณโครงการฯ รวม 30,903,400 บาท และมีความคืบหน้าในการดำเนินการจัดทำสัญญา PO ในภาพรวมทุกกิจกรรมแล้ว 18,960,842 บาท คิดเป็นร้อยละ 61.36 (ข้อมูลวันที่ 17 พฤษภาคม 2564)

สำหรับการลงพื้นที่สนับสนุนโครงการฯ ในครั้งนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะ ได้ติดตามการดำเนินกิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) ครัวเรือนต้นแบบ นางทิพย์เกษร พุ่มแก้ว บ้านโชครังสรรค์ หมู่ที่ 13 ตำบลคันไร่ อำเภอสิรินธร สัดส่วน 1:2 ตามแบบของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งได้มีการขุดปรับพื้นที่ตามสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว 100 %

โอกาสนี้ นางทิพย์เกษร พุ่มแก้ว ได้กล่าวกับพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะฯ ว่า “ตนเองและครอบครัวมีความมุ่งมั่นที่จะทำ โคก หนอง นา ให้เป็นจริงเพราะเดิมได้ทำเกษตรพอเพียงอยู่แล้ว และรู้สึกดีใจมาก ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคกหนอง พช.” ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งครอบครัวของตนเองนั้น มีพื้นที่นาอยู่ 6 ไร่ และสมัครเข้าร่วมโครงการ 3 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับพื้นที่ขุดสระน้ำ คลองไส้ไก่ และคันนารอบพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการขยายผลทำโคก หนอง นา ให้เต็มพื้นที่ทั้ง 6 ไร่ โดยการออกแบบคลองไส้ไก่ให้กว้างขึ้น เพื่อจะได้พายเรือรดน้ำแปลงผักได้ ในส่วนของวัสดุและต้นไม้ ที่ได้รับจากงบประมาณเงินกู้รัฐบาล ผ่านทางกรมการพัฒนาชุมชนนั้น สมาชิกในครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็ได้มาช่วยกันเอามื้อสามัคคี และปลูกไม้ 5 ระดับ หมุนเวียนกันไป สิ่งสำคัญที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ คือ ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ “โคก หนอง นา พช.” นั้น ได้รวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการน้ำในนามกลุ่มผู้ใช้น้ำจากเขื่อนสิรินธร ที่พอจะบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำได้ แต่คาดหวังว่าในปีต่อ ๆ ไป ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา คงจะมีน้ำใช้ตลอดปีในการปลูกต้นไม้ ปลูกพืชผัก เพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่ได้รับการอบรมจากโครงการฯ ในพื้นที่ของตนเองต่อไป”

นางทิพย์เกษร ยังได้กล่าวอีกว่า “ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน และรัฐบาล ที่ได้นำโครงการดี ๆ มาช่วยเหลือชาวบ้าน ถือเป็นการสานฝันของตนให้เป็นจริง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นโดยการทำเกษตรผสมผสานตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อจากนี้ แปลงตัวอย่างของตนจะอุทิศให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนพึ่งตนเองและสามารถอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน”

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสิรินธร…ภาพข่าว/รายงาน