เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ วังศุโขทัย
สืบเนื่องจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จไปทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในงานสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญา OTOP ณ หอประชุมจามจุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เมื่อวันที่ 14 – 15 พฤศจิกายน 2563 โดย กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ นำกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อ จำนวน 42 ราย ใน 20 จังหวัดทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ กลุ่มชุมชนภูไทดำ กลุ่มไหมสมเด็จ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จากจังหวัดกาฬสินธุ์ , กลุ่มทอผ้าไหมแต้มหมี่บ้านหัวฝาย กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข จากจังหวัดขอนแก่น , กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติหนองบัวแดง จากจังหวัดชัยภูมิ , ฅญา บาติก ฉัตรทองไหมไทย จากจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงผ้าย้อมครามธรรมชาติสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดสกลนคร ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับเงิน และทอง จากจังหวัดสุรินทร์, อุบลราชธานี และงานจักสาน จากจังหวัดยโสธร ร่วมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโครงการดังกล่าว ทรงมีพระปฏิสันถารกับผู้ประกอบการ ที่เฝ้ารับเสด็จฯ และมีพระวินิจฉัยแนะแนวทางการพัฒนากรรมวิธี คุณภาพ ลวดลาย
เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ผู้ผลิตผู้ ประกอบการ OTOP จำนวน 23 กลุ่ม ด้วยทรงเล็งเห็นถึงการอนุรักษ์หัตถศิลป์อันล้ำค่า ที่สะท้อนถึงบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ควบคู่ไปกับการยกระดับสู่สากลเดิมในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 พระองค์ทรงมีกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรและกลุ่มสมาชิก OTOP ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เคยพระราชทานคำแนะนำและแรงบันดาลใจ อันเป็นดังการบ้านที่ท้าทายฝีมือไว้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เพื่อนำพาผลิตภัณฑ์ ไปยังทิศทางแห่งคุณภาพ และมาตรฐาน แต่เนื่องจากปัญหาของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ที่ยังคงแพร่กระจายในหลายพื้นที่ จึงเลื่อนการเสด็จพระราชดำเนินดังกล่าวออกไป ด้วยพระเมตตา ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความตั้งใจจริงของทุกคน ทุกกลุ่ม ที่ได้ทำผลงานถวายผ่านกรมการพัฒนาชุมชน จึงโปรดให้นำผลงานที่ได้รับการพัฒนาตามพระวินิจฉัยมาให้ทรงตรวจและให้คำแนะนำ ณ พระตำหนัก วังศุโขทัย
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ได้ถวายรายงานผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชน ที่ได้รับการพัฒนาโดยน้อมนำตามพระวินิจฉัยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จำนวน 23 ชิ้นงาน จาก 16 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ ผ้าไหมแพรวา กลุ่มชุมชนภูไทดำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มได้รับสนองตามพระราชวินิจฉัย พัฒนาลวดลายเป็น “ลายช่อใหม่” และ “ลายเคอไต่ไม้” ต่อยอดจากแพรวาดั้งเดิมผ้าไหมบาติกเขียนมือ กลุ่มฅญาบาติก จังหวัดนครราชสีมา ได้มีการต่อยอดประยุกต์เป็นผ้าไหมบาติกเขียนมือ “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เกิดจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนให้ชุมชนได้ฝึกทักษะผ้าไหมพิมพ์ลายประยุกต์ ฉัตรทองไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา มีการยกระดับ พัฒนา ผลิตภัณฑ์ โดยน้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ประยุกต์ลงบนผืนผ้าไหม จนได้รับการยอมรับ ชื่นชมถึงความแปลกใหม่ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมหลายเท่า
ผ้าหมักโคลนย้อมสีธรรมชาติ
กลุ่มทอผ้าบ้านสะง้อ จังหวัดบึงกาฬ ได้รับสนองตามพระราชวินิจฉัยปรับปรุงใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านภาพลักษณ์ พัฒนาตราผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ด้านการจัดร้านให้มีรูปแบบ เรื่องราวที่เข้ากับผลิตภัณฑ์ จัดแสดงวัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมเพื่อให้ผู้บริโภครู้จักความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ และด้านผลิตภัณฑ์ มีการเพิ่มเส้นใยธรรมชาติ รวมถึงปรับการเดินเส้นตัดเย็บให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดทางออนไลน์ และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ผ้าไหมมัดย้อมซ่อนมัดหมี่ กลุ่มผ้าครามเมืองพุท จังหวัดบุรีรัมย์ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าการวางเฉดสีแต่มีความเข้ม ส่งผลให้ลายมัดหมี่ที่เป็นลวดลายหลักบนผืนผ้าไม่คมชัด และขาดจุดเด่น ทางกลุ่มจึงได้พัฒนาเลือกผ้ามัดหมี่ที่มีลวดลายคมชัด และมัดย้อมด้วยโทนสีที่มีความสว่าง และใช้เฉดสีที่ตัดกันกับผ้าลวดลายเดิม เพื่อให้ลวดลายเดิมคมชัดยิ่งขึ้น ผ้าไหมมัดหมี่ประยุกต์ ลวดลายแฟชั่น กลุ่มผ้าตุ้มทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทรงชื่นชมว่าสวยงามเป็นผลิตภัณฑ์แนวแฟชั่น และทรงให้คำแนะนำควรฟอกย้อมด้วยสีธรรมชาติ ทางกลุ่มจึงได้พัฒนาการย้อมสีด้วยเปลือกไม้ธรรมชาติ ได้แก่ ต้นประดู่ และต้นไม้พื้นถิ่นอื่น ๆ ที่ให้สีติดทนนานยิ่งขึ้น
ผ้าไหมยกทอง กลุ่มเฮือนผ้าเฮือนแพร จังหวัดมหาสารคาม ทรงพระวินิจฉัยแนะให้ใช้เส้นเงิน/ทอง ที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย แทนเส้นเงิน/ทองที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น
เนื่องจากมีคุณภาพดีกว่า ทางกลุ่มได้พัฒนาตามพระราชวินิจฉัย โดยทอมือด้วยไหมไทยพันธุ์พื้นบ้าน ย้อมด้วยสีธรรมชาติ และใช้เส้นเงิน/ทอง ที่นำเข้าจากประเทศอินเดีย ผ้าหมี่ขิดสะกิดล้วง ย้อมสีธรรมชาติ กลุ่มฝ้ายแกมไหม จังหวัดอุดรธานี ทรงพระวินิจฉัยแนะให้ใช้สีธรรมชาติในการย้อม ให้มีเฉดสีสันมากกว่าเดิม ทางกลุ่มจึงได้สร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าใช้เส้นใยฝ้ายแกมไหม ย้อมสีธรรมชาติโดยใช้ใบกระถินและขมิ้นเพิ่มความเข้มให้สีผ้า เข็มขัดเงิน กลุ่มดาเครื่องเงิน และตอกลาย โดยนางณัฎฐา ธนุนาจารย์ จังหวัดสุรินทร์ ทรงพระวินิจฉัยให้ทำเข็มขัดที่สามารถเปลี่ยนได้หลายๆ หัว ซึ่งนอกจากความงดงามแล้ว ยังเกิดความหลากหลายในการใช้งาน ทั้ง 2 กลุ่มได้ปรับปรุงพัฒนาผลิตพัฒนาเข็มขัดเงินให้สามารถแยกส่วนประกอบระหว่างหัวและสายเข็มขัด จึงเป็นการสร้างเอกลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ผลงานที่ได้นำขึ้นถวายให้ทรงมีพระวินิจฉัย ในครั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงให้ความสนพระทัย ทอดพระเนตรโดยละเอียดทุกผลงาน ด้วยพระปรีชาญาณในด้านศิลปะ การออกแบบ และเข้าพระทัยถึงทิศทางและความเป็นไปของวงการแฟชั่น ทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาต่อยอดที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านคุณภาพของสี โทนสี คุณภาพเส้นใย และเทรนด์ที่จะสามารถโดดเด่นอยู่ในแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ในอนาคต รวมถึงวัสดุที่เลือกใช้ ลวดลาย และเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ แก่ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อนำไปอธิบายขยายผลสู่ทุกกลุ่มให้สามารถสร้างสรรค์คุณค่า คุณภาพ และความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตามพระประสงค์ต่อไป กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” จากการเสด็จไปทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ด้านผ้าและงานหัตถกรรม 3 ภูมิภาค ผ่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน
เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า เป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดตามวิถีอัตลักษณ์ประจำถิ่น ปลุกกระแสความนิยมในผ้าไทย จนได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวางจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าทอมือของกลุ่มอาชีพภูมิปัญญาจากท้องถิ่น จากทั่วทุกภูมิภาค 76 จังหวัด มีการนำลายผ้า ไปต่อยอดจำนวน 1,042 กลุ่ม จำนวนสมาชิกกลุ่ม 10,168 คน ก่อเกิดรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เพิ่มยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ถึงกว่า 39,544,290 บาท (ข้อมูล ณ เมษายน 2564) เพื่อสนองในพระกรุณาธิคุณ และการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย โดยร่วมบูรณาการกับทีมผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ขับเคลื่อนการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านผ้าไทย (Coaching) ให้กับกลุ่มช่างฝีมือ ช่างทอ ทั้ง 4 ภาค และการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่
โดยในระดับภาค ผู้สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าประกวดได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกวดระดับภาค ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 7 – 26 มิถุนายน 2564 สำหรับผลงานที่ได้รับการคัดเลือกในระดับภูมิภาค จะเข้าสู่การประกวดในระดับประเทศ ในระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564 โดย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดระดับประเทศ และทุก ๆ ผลงานที่ได้รับการรังสรรค์อย่างประณีตเหล่านี้ จะถูกนำจัดแสดงในนิทรรศการ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในงาน ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ณ ศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนสิงหาคมนี้ อีกด้วย เพื่อเป็นเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจ และขวัญกำลังใจแก่ผู้ประกวดที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดินต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดฯ ทางเว็บไซต์กรมการพัฒนาชุมชน www.cdd.go.th ทาง Facebook แฟนเพจ “กรมการพัฒนาชุมชน” และ Facebook แฟนเพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” หรือหมายเลข 02 -141- 6179 รวมถึงสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอทั่วประเทศ