แพทย์แผนไทยเผยตำรับยารักษาโรคโลหิตปกติโทษ (ปวดท้องประจำเดือน) ได้แก่ ยาประสะไพล ยาหอมอินทจักร์ และ ยาบำรุงโลหิต พร้อมแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวช่วงมีประจำเดือน
ปัญหาด้านสุขภาพที่สตรีทุกคน ต้องประสบปัญหา คือ อาการปวดประจำเดือน (dysmenorrhea) ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องก่อนมีประจำเดือน 1 – 2 วัน และปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโลน ภายในร่างกายและมีความสอดคล้องกับตำราการแพทย์แผนไทย พระคัมภีร์มหาโชตรัตน์ ที่อธิบายถึง โรคโลหิตระดูสตรีว่า ช่วงที่มีประจำเดือน จะมีอาการปวดหน่วงหรือปวดเกร็งบริเวณท้องน้อย และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดกระดูก ท้องอืด ท้องเฟิ้อ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนหรือปวดศีรษะ เหงื่อออก ผิวหนังบวมแดง เกิดสิว ฝ้า มีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิด ฯ ซึ่งอาการดังกล่าว พอประจำเดือนหยุด ก็จะหายเป็นปกติ กลุ่มอาการดังกล่าว ทางการแพทย์แผนไทยเรียกว่า “โลหิตปกติโทษ” ซึ่งจะก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกายสตรีในแต่ละรอบเดือน
ทางการแพทย์แผนไทย จะรักษากลุ่มอาการโลหิตปกติโทษ โดยใช้ยาขขับโลหิต บรรเทาอาการปวดประจำเดือน คือ ยาประสะไพล ซึ่งเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ จากการศึกษาวิจัย พบว่า ตำรับยาประสะไพล มีประสิทธิภาพ ในการลดอาการปวดประจำเดือนได้จริง มีประสิทธิภาพเทียบเคียงยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในท้องตลาด สามารถใช้ทดแทนกันได้ และตำรับยาประสะไพลไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ฯลฯ เพราะส่วนประกอบในตำรับมีสมุนไพรฤทธิ์ร้อน เช่น เหง้าไพล ดีปลี ผิวมะกรูด พริกไทย กระเทียม ฯ ซึ่งช่วยขับลม ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก และใช้ยาหอมอินทจักร ละลายในน้ำอุ่นรับประทานระหว่างมีประจำเดือน จะช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ วิงเวียน ช่วยให้กิดอารมณ์ผ่อนคลาย และเมื่อประจำเดือนหยุด จะใช้ยาบำรุงโลหิต เพื่อบำรุงโลหิตให้บริบูรณ์ และเกิดผลดีต่อสุขภาพและผิวพรรณขจองผู้หญิง ตำรับยาที่กล่าวข้างต้น ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์เบิกได้ในคลินิกการแพทย์แผนไทย ในโรงพยาบาลของรัฐ หรือหาซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีการจำหน่ายยาสมุนไพรไทย
ช่วงที่มีประจำเดือนไม่ควรรับประทานอาหารหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น น้ำเย็น ไอศกรีม น้ำมะพร้าว น้ำแตงโม น้ำใบบัวบก น้ำใบย่านาง ฯลฯ อาหารที่หวานจัดหรือผลไม้ที่มีรสฝาด เพราะจะทำให้เลือดประจำเดือนถูกขับออกมาได้ไม่ดี และจะมีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่วนอาหารที่ควรรับประทานในช่วงที่เป็นประจำเดือน คือ อาหารที่มีสมุนไพรรสเผ็นร้อน เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบแมงลัก ฯลฯ เพราะจะช่วยขับเลือดประจำเดือนให้ไหลได้สะดวก นอกจากนี้ ช่วงที่เป็นประจำเดือนก็หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ควรออกกำลังกายที่เกิดการกระแทกรุนแรง และระวัง สิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดอการหกล้มก้นกระแทก เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคของมดลูกตามมาได้