ต้นตานหม่อน หรือ ต้นลีกวนยู เป็นสมุนไพรพื้นบ้าน ไม้ประดับเป็นยา นิยมปลูกในเมือง อาคารพาณิชย์ หรือบ้านที่ไม่มีพื้นที่มาก แต่ต้องการความร่ม ชุ่มชื้น และม่านกันแดด บังฝุ่น สามารถใช้เป็นพืชที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนไม่รู้จักว่าต้นนี้เป็นยาสุมนไพรด้วย และนิยมใช้ในตำรับยา การเข้ายาหลายตำรับ
ประโยชน์และสรรพคุณ
ในบางพื้นที่มีการนำยอดอ่อนและใบอ่อนของตานหม่อน มารับประทานโดยจะนำมา ลวก หรือ นึ่ง สำหรับใช้จิ้มน้ำพริก และสำหรับสรรพคุณทางยาของตานหม่อนนั้น ตามตำรายาไทยระบุไว้ว่า ใบมีรสเบื่อ หวานชุ่มเย็น คุมธาตุ แก้พิษตานซาง ช่วยห้ามเลือด ขับพยาธิไส้เดือนในท้อง บำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น ราก ช่วยคุมธาตุในร่างกาย ช่วยรักษาลำไส้ ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ช่วยฆ่าพยาธิ ดอก ช่วยรักษาลำไส้ ช่วยแก้ตานซางในเด็ก ช่วยฆ่าพยาธิ นอกจากนี้ในบัญชียาสมุนไพร ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยายังได้ระบุถึงการได้ตานหม่อน ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรับ ยาประสะมะแว้ง ที่มีสรรพคุณ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
ตำรายาไทย ใบมีรสเบื่อ หวานชุ่มเย็น แก้พิษตานซาง บำรุงเนื้อหนังให้ชุ่มชื่น คุมธาตุ ขับไส้เดือนในท้อง ใบ ผสมในตำรับยาประสะมะแว้ง ยอดอ่อน ใบอ่อน ลวก ต้ม รับประทานเป็นผัก
บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ปรากฏการใช้ใบตานหม่อน ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในกลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ตำรับ “ยาประสะมะแว้ง” มีสรรพคุณใช้บรรเทาอาการ ไอ มีเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลาก ของสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ ของเนื้อไม้ตานหม่อน ต่อเชื้อรา 3 ชนิดคือ Trichophyton rubrum, Epidermophyton floccosum และMicrosporum gypseum ผลการทดสอบพบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากเนื้อไม้ตานหม่อนสามารถยับยั้งเชื้อรา M.gypseumได้
ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเอทานอลและน้ำ ของลำต้น(เนื้อไม้)ตานหม่อน ต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย 6 สายพันธุ์ คือ S.aureus, B.subtilis, E.coli, Sh.disenteriae, S.typhi และ C.albicans โดยใช้เทคนิค disk diffusion method ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเอทานอลของตานหม่อน สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus, B.subtilisและ C.albicansได้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต่อการยับยั้งเชื้อ (diameter of inhibition zone) เท่ากับ 7-12, 7-12 และ >12-19 มิลลิเมตร ตามลำดับ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ในการใช้ตานหม่อนเป็นสมุนไพรนั้นควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป และไม่ควรใช้ในปริมาณมากจนเกินไป โดยควรใช้ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ส่วนเด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ตานหม่อน เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ ในการใช้ยาประสะมะแว้งที่มีใบตานหม่อนเป็นส่วนประกอบนั้นมีข้อควรระวังในการใช้ดังนี้
- ในผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องจำกัดการใช้เกลือ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ไม่ควรใช้น้ำมะนาวแทรกเกลือในการรับประทานยา
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 15 วัน
ปรึกษาหมอออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz
ชมคลิป : https://youtu.be/hbnnX-V3OCs
…………………………………………….
เอกสารอ้างอิง
“ตานหม่อน”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 205.
วันดี อวิรุทธ์นันท์,แม้นสรวง วุธอุดมเลิศ. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของพืชสมุนไพร. วารสารเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 2536;10(3):87-89.
ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ตานหม่อน (Tan Mon)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 128.
Avirutnant W, Pongpan A. The antimicrobial activity of some Thai flowers and plants. Mahidol Univ J Pharm Sci. 1983;10(3):81-86.
ตานหม่อน.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=168