วันที่ 21-22 เมษายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี นำโดย นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมการเอามื้อสามัคคีสร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้ (ปรับพื้นที่) ในแปลงตัวอย่าง และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร โดยได้รับการสนับสนับสนุนการดำเนินงานจาก หจก.ข้าวโฮยเกลือ สตูดิโอ
นำโดยคุณอัมพร วาภพ คณะทำงานจิตอาสาพัฒนาบ้านเกิด จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการโดยสัมภาษณ์ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ณ ห้องเจ้าคำผง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ต่อด้วยการสัมภาษณ์ ท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส พระนักพัฒนาของจังหวัดอุบลราชธานี ณ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน ปิดท้ายด้วย แปลงตัวอย่างที่โดดเด่นที่เป็นรูปธรรมและเกิดผลผลิตแล้วในพื้นที่อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ให้สัมภาษณ์ ถึงการขับเคลื่อนและวางแผนงานดำเนินโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบโคก หนอง นา และพัฒนาแหล่งเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อพี่น้อง ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี นั้นจะช่วยแก้เเล้งเก็บฝน เก็บน้ำในฤดูฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง มีพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เกิดการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และมีผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีหน่วยงานราชการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาผลผลิตจากโคก หนอง นา สู่เเบรนด์ “โคก หนอง นา อุบลราชธานี”
โดยมีครัวเรือนต้นแบบ 3,960 ครัวเรือน เกิดแกนนำพัฒนา 4,858 คน เกิดการจ้างงาน 898 คน มีพื้นที่การทำ “โคก หนอง นา” 9,329 ไร่ มีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น อีก 19 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ถือเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับสู่บ้านเกิด จำนวน 898 อัตรา และการนำเอาความรู้ที่ได้โดยเฉพาะการ น้อมนำแนวพระราชดำริ ไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่ตามโครงการฯ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ส่งผลให้เกิดความมั่นคงทางอาหารกับครัวเรือน ชุมชนพึ่งตนเองได้ จากสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
ในส่วนของกิจกรรมเอามื้อสามัคคีและพัฒนาฐานการเรียนรู้ในแปลงตัวอย่าง งบพัฒนาจังหวัด ปี 2563 นั้น ได้ดำเนินการปรับพื้นที่ ขุดหลุมขนมครก ขุดโคก ขุดคลองไส้ไก่ สร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้ ในแปลงตัวอย่างทั้ง 25 แปลง เสร็จสิ้นพร้อมส่งมอบงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลพร้อมบุคลากรเข้าร่วมดำเนินการ จากหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ทั้งสิ้น 8 หน่วยงาน/องค์กร ได้แก่
1)องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
2)หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56
3)สำนักงานชลประทานที่ 7
4)ทางหลวงชนบทที่ 7 (อุบลราชธานี)
5)ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 13 อุบลราชธานี
6)สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี
7)บริษัท คูโบต้าเจริญชัย จำกัด
8)ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคถาวร 2534
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณส่วนราชการ วัด และภาคเอกชน ที่อยู่เคียงข้างและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตลอดมาตามหลัก “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ และให้การสนับสนุนการปรับพื้นที่และขับเคลื่อนโครงการ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่และชุมชนอื่นๆ ต่อไป
นอกจากนั้น นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้รายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” งบพัฒนาจังหวัด ปี 2563 ดำเนินการปรับพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว ทั้ง 25 แปลง / โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ โดยมอบหมายให้อำเภอดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 3,960 ครัวเรือน/แปลง และดำเนินการในพื้นที่ 25 อำเภอ 177 ตำบล
ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย โดยนำเสนอผลการดำเนินงานกิจกรรมที่ 2 พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM ระดับตำบล และพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM ระดับครัวเรือน ซึ่งมีผลการสำรวจการใช้แบบมาตรฐาน จำนวน 3,892 แปลง คิดเป็นร้อยละ 100 / ลงนามในสัญญาแล้ว จำนวน 762 แปลง วงเงินสัญญาจ้าง 60,523,437.22 บาท ผูก PO และเบิกจ่ายแล้ว 300 แปลง จำนวนเงิน 24,686,631.59 บาท คิดเป็นร้อยละ 27.54 ในส่วนของการปรับพื้นที่ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 142 แปลง
ต่อจากนั้น คณะจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ลงพื้นที่ ศูนย์พุทธธรรมพรหมวชิรญาณ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน เพื่อสัมภาษณ์ ท่านพระครูสุขุมวรรโณภาส พระนักพัฒนาของจังหวัดอุบลราชธานี และที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมนี้ ได้นำเยี่ยมชมแปลงตัวอย่าง “โคก หนอง นา วังอ้อโมเดล” ที่เป็นรูปธรรมและมีผลผลิตและสามารถเก็บเกี่ยวและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนได้เมตตาแสดงสัมโมทนียกถา ในการขับเคลื่อนโครงการ “โคก หนอง นา พช.” โดยยึดหลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) ก่อนเดินทางไปยังแปลงตัวอย่าง นางรัตนภรณ์ บัวอาจ บ้านแสงทอง หมู่ที่ 8 ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อถ่ายภาพบรรยากาศ “โคก หนอง นา พัทยาน้อย” Land mark แห่งใหม่ใกล้ตัวเมือง
เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีหนองที่ขุดขึ้นจากโครงการ ที่มีน้ำเขียวใสสวยงามเหมือนชายหาดพัทยา มีดินร่วนปนทรายที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับการคมนาคมที่สะดวกสบายอยู่ติดกับถนนทางหลวงหมายเลข 217 ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดเพียง 20 กว่ากิโลเมตร จึงถือว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ที่น่าสนใจ และมีแนวทางที่จะขอความร่วมมือจากส่วนราชการและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมสนับสนุนและส่งเสริมให้แปลงตัวอย่างแห่งนี้ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่สวยงามของจังหวัดได้ต่อไปในอนาคต
ปิดท้ายด้วยการลงพื้นที่ถ่ายทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) จัดตั้งขึ้นในปี 2518 และอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ 2 งาน 57 ตารางวา ในระยะเริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งสาธิตทางวิชาการด้านการเกษตรกรรม ส่งเสริมการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้นให้เป็นป่าชุมชน ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนที่ไม่มีที่ทำกินได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ปัจจุบัน กิจกรรมของศูนย์ฯ ประกอบด้วย ศูนย์ฝึกอบรมและสาธิตอาชีพ/ การรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ / ฟาร์มเลี้ยงสัตว์และบ่อเลี้ยงปลา / ปลูกไม้ผลและป่าชุมชน / กิจกรรมครัวชุมชนและปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร / กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต รวมไปถึงแปลงตัวอย่างโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
เพื่อสร้างการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ เป็นฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในเรื่องของการพัฒนาประเทศ เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติและประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยให้สามารถพึ่งตนเองได้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความสุขที่ยั่งยืน ต่อประชาชนในประเทศ รวมถึงชาวจังหวัดอุบลราชธานี ด้วย
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน