กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรเฝ้าระวัง “โรคและแมลงศัตรูพืช” ในฤดูแล้ง

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะเกษตรกรให้เฝ้าระวังโรคและแมลงศัตรูพืชในช่วงฤดูแล้งอย่างเข้มงวด เน้นการป้องกันควบคุมอย่างถูกวิธี พร้อมให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกเพื่อป้องกันและกำจัดโรคหรือแมลงศัตรูพืชได้อย่างทันท่วงที

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมี อุณหภูมิสูงขึ้นตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป อากาศร้อนอบอ้าว ความชื้นในอากาศมีน้อย และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พืชผัก หรือผลิตผลทางการเกษตรมีโอกาสสูงที่จะโดนแดดเผาไหม้จนถึงขั้นยืนต้นตาย รวมไปถึงการเกิดโรคและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายสร้างความเสียหายให้กับผลผลิต

ฉะนั้นจึงอยากจะฝากเตือนให้เกษตรกรมีการเตรียมความพร้อมในช่วงฤดูร้อนนี้ เพราะด้วยสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำติดต่อกันยาวนานหลายเดือน นับเป็นสภาวะที่เหมาะสมสำหรับศัตรูพืชเจ้าประจำที่ส่วนใหญ่จะเป็นแมลงในกลุ่มปากดูดต่าง ๆ อย่างเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (ที่มักระบาดในนาข้าวช่วงอากาศร้อน) แมลงหวี่ขาว และกลุ่มไรแดง เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้กับพืชที่ปลูกได้เป็นจำนวนมาก ส่วนโรคพืชในหน้าแล้งที่ต้องระวัง คือ โรคพืชจากเชื้อไวรัส ที่มาพร้อมกับแมลง ปากดูดเหล่านี้ที่เป็นพาหะแพร่กระจายโรค

ทั้งนี้ แมลงปากดูดจำพวกเพลี้ยต่าง ๆ รวมถึงเพลี้ยไฟและไรต่าง ๆ เป็นศัตรูพืชที่พบระบาดมากในช่วงหน้าแล้ง ฝนทิ้งช่วง สามารถทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน ตาใบ ตาดอก ของพืชหลายชนิด เช่น แตงโม มะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา มะระ ฟักเขียว ถั่วฝักยาว หน่อไม้ฝรั่ง ไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มโอ มะนาว ส้มเขียวหวาน องุ่น พืชไร่ เช่น ฝ้าย ยาสูบ งา ทานตะวัน ข้าวโพด นอกจากนี้ ยังพบเป็นปัญหาสำคัญในการเพาะปลูกไม้ดอกหลายชนิด เช่น กล้วยไม้ เบญจมาศ กุหลาบ เยอร์บีร่า มะลิ ดาวเรือง อีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชในช่วงหน้าแล้ง กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีเขตกรรมที่เหมาะสม เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรงให้ต้นพืชให้สามารถทนทานและป้องกันการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช ได้แก่ เลือกใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ที่ปราศจากโรคและแมลงศัตรูพืชมาปลูก หมั่นทำความสะอาดแปลง บำรุงดูแลต้นพืชให้แข็งแรง โดยการใส่ปุ๋ยให้น้ำที่เหมาะสม กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยของโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงการสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชได้ทันเวลา และหากพบการเข้าทำลาย ก็ทำการควบคุมโดยใช้ชีวภัณฑ์ หรือ สารสกัดธรรมชาติ หรือสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสมตามลำดับ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผลผลิต ตัวเกษตรกร และผู้บริโภคเป็นสำคัญ