วันที่ 17 เมษายน 2564 นายไพโรจน์ ลูกอินทร์ อดีตนักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ข้าราชการบำนาญ) และครอบครัว น้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ในครัวเรือนของตนเองอย่างต่อเนื่องและเห็นผลจริง ในพื้นที่ หมู่ที่ 1 บ้านแหลมไผ่ ตำบลเคียนซา อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายไพโรจน์ ลูกอินทร์ เปิดเผยว่า “ยินดีและภาคภูมิใจอย่างที่สุดในฐานะข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และประชาชนไทย ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบที่ 2 ซึ่งเป็นดังการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเป็นหลักในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรไทย มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีนัยสำคัญในการสร้างหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มั่นคงและปลอดภัยได้ด้วยตนเองก่อให้เกิดความมั่นคงระดับครัวเรือนและชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหารสู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบที่ 2 นี้ ตนได้ชักชวนให้คนในครอบครัว เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อ 30 เมษายน 2563 ในพื้นที่ของตนเองขนาด 1 ไร่ 2 งาน ด้วยความตั้งใจและลงมือทำจริงตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี นั้น ก่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีพืชผักกว่า 19 ชนิด อาทิ ผักเหรียง ชะอม ตะไคร้ ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ผักกาดหอม กวางตุ้ง กระเพรา มะเขือพวง ต้นหอม ผักชี พริกขี้หนู ข่า ขมิ้น มะระขี้นก ตำลึง ต้นดอกแค ผักหวาน เป็นต้น และ ผลไม้ 10 ชนิด อาทิ มะนาว สับปะรด มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ขนุน ส้มโอ ละมุด ส้มแป้น ลำไย โดยผลผลิตเหล่านี้ทางครอบครัวจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก ใช้ในการบริโภค ประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว ส่วนที่สองแบ่งปันเพื่อนบ้าน พี่น้องชาว พช.ที่มาพบปะเยี่ยมเยือน และส่วนที่สามเป็นส่วนที่ช่วยสร้างรายได้เสริมโดยจะนำจำหน่ายหน้าบ้าน หรือหากมีจำนวนมากก็จะแปรรูป เป็นการถนอมอาหาร และเก็บไว้รับประทานต่อไป
กล่าวได้ว่ากิจกรรมดังกล่าวนำไปสู่ประโยชน์และความสุขในชีวิตหลากหลายด้าน โดยนอกจากครอบครัวจะมีผัก ผลไม้ ไว้สำหรับการบริโภคในครัวเรือนอย่างเพียงพอ ปลอดภัยจากสารเคมีและประหยัดค่าใช้จ่าย แถมสร้างรายได้แล้ว ยังเพิ่มพูนความสุขให้กับสมาชิกในครอบครัวที่ได้อยู่พร้อมหน้า โดยทุกๆ วันจะต้องมีเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ที่ครอบครัวลูกอินทร์ ได้ใช้เวลาร่วมกันในแปลงผัก หรือใช้พื้นที่ในการออกกำลังกาย ช่วยสานสัมพันธ์สร้างความอบอุ่นในครอบครัวให้มีสุขภาพกาย ใจ ที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งนี้ หากทุกครัวเรือนร่วมใจปลูกผักในรั้วบ้านเท่ากับเป็นการสร้างคลังอาหารชุมชน ช่วยเสริมให้คนในชุมชนกลมเกลียวเอื้ออาทร สมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น นำไปสู่การใช้พื้นที่ชุมชนผลิตอาหารปลอดภัย และรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี” นายไพโรจน์ กล่าว