วันที่ 11 เมษายน 2564 เวลา 14.30 น. นางสาวสุกานดา แสงวงษ์ พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการ พัฒนากร และครัวเรือนต้นแบบ ร่วมให้ข้อมูล ปัญหาอุปสรรคที่พบจากการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้แทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา ” พช.สมุทรปราการ อำเภอพระประแดง และรับฟังข้อแนะนำ เทคนิคการทำงาน วิธีแก้ไขปัญหาจากอาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ (อาจารย์ป้ำ) สมาคมศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ให้คำปรึกษา และให้องค์ความรู้เกี่ยวกับรายละเอียดงานปรับรูปแบบแปลงที่ดินตามแบบมาตรฐาน โคกหนอง นา และพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต รูปแบบท้องร่อง สำหรับงานขุด ปรับรูปแบบที่ดิน ณ ห้องประชุมหลวงพ่อปาน ที่ว่าการอำเภอบางบ่อ ชั้น 1 ถนนรัตนราช ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการเวลา 14.30 น. รับองค์ความรู้ และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา
อำเภอพระประแดง โดยนางสาวดวงใจ พัทมุข นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทน พัฒนาการอำเภอพระประแดง พัฒนากร และครัวเรือนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา” พช.สมุทรปราการ ในเขตพื้นที่อำเภอพระประแดง จำนวน 5 แปลง ร่วมให้ข้อมูล ดังนี้
1.1 นายอทิวัต รอดคลองตัน ต.บางน้ำผึ้ง อ.พระประแดง มีคลองอยู่แล้ว โดยจะขุดร่องน้ำเพิ่ม ปริมาตรดินที่จะขุด อาจจะได้ประมาณ 700-800 ลูกบาศก์เมตร
1.2 นางสาวบุบผา เผือกวัฒนะ ต.บางกอบัว อ.พระประแดง พื้นที่เป็นร่องสวน ร่องดินจำนวน 2 ร่องหน้ากว้าง 4 เมตร ร่องน้ำกว้าง 3 เมตร น้ำเป็นน้ำกร่อย พื้นที่คล้ายคลึงกับจังหวัดสมุทรสาคร
1.3 นางสาวดาริณี ปิ่นทองเจริญ ต.บางกระสอบ อ. พระประแดง พื้นที่มีร่องน้ำเก่าบริเวณท้ายแปลง ประสบปัญหาดินเค็ม
1.4 นายวินัย ปุ่นวงศ์ ผู้แทนวัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ. พระประแดง พื้นที่เป็นร่องสวน มีบ่อน้ำอยู่แล้ว 1 บ่อ กว้าง 2-3 เมตรลึก 1.5 เมตร ยาวสุดพื้นที่ และมีลักษณะดินเลน มีปัญหาน้ำกร่อย-เค็ม ในบางช่วง (3-6 เดือน)
1.5 นายสมนึก ฟักเจริญ ต.บางกะเจ้า อ. พระประแดง พื้นที่อยู่ห่างแม่น้ำเจ้าพระยา 200 เมตรพื้นที่เป็นบ่อขนาดเล็ก จำนวน 3 บ่ออยู่แล้ว ลึกเกือบ 2 เมตร หากขุดลึกจะมีปัญหาน้ำเค็มซึมเข้าบ่อมากขึ้น และมีปัญหาน้ำเป็นคราบสนิม
ในภาพรวมของอำเภอพระประแดงปัญหาเกิดจากสภาพพื้นที่เป็นร่องสวน ปริมาตรดินขุดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งทางอาจารย์ป้ำได้นำเสนอแบบมาตรฐานพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต รูปแบบท้องร่อง ซึ่งอยู่ในช่วงการยื่นแบบให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พิจารณา ตามรูปแบบแนะนำให้ขุดบริเวณร่องดินเพิ่มเติม ความลึกไม่ถึง 3 เมตร และต้องใช้เทคนิคการกั้นร่องน้ำในการขุด ผู้รับจ้างต้องมีความชำนาญ ในพื้นที่ที่มีบ่ออยู่แล้วให้ขุดคลองไส้ไก่เพิ่ม 2 ชั้น วิ่งหากัน เพิ่มความกว้างของคลองไส้ไก่ และอาจารย์ป้ำจะนำเรื่องปัญหาจำนวนปริมาตรดินที่อาจจะต้องปรับจำนวนที่กำหนดไว้ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการประสบปัญหาอยู่ นำเรียนอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนทราบเพื่อขอหารือแนวทางแก้ไขต่อไป
อาจารย์รักษ์เผ่า พลรัตน์ (อาจารย์ป้ำ) ได้กล่าวชื่นชมครัวเรือนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา ” พช.สมุทรปราการ ในเขตพื้นที่อำเภอพระประแดง ว่ามีความเข้าใจภูมิสังคมเป็นอย่างดี ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมในการแก้ปัญหาน้ำเค็ม โดยการน้อมนำทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รัชกาลที่ 9 มาแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี เช่น การแก้ไขปัญหาตาม “ภูมิสังคม” “ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” “อธรรมปราบอธรรม” ด้วยการใช้ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” การเติมออกซิเจนจากธรรมชาติด้วยการทำน้ำวน และทำประตูน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเค็ม จนเป็นพื้นที่ตัวอย่างของมูลนิธิชัยพัฒนา ควรส่งเสริมสนับสนุน และมีสื่อประชาสัมพันธ์ให้รับทราบเป็นพื้นที่ตัวอย่าง
นอกจากนี้อาจารย์ป้ำได้แนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขดินเค็ม ด้วยการห่มดิน ป้องกันการระเหยของน้ำในหน้าแล้ง และใช้น้ำหมักจุลินทรีย์รสจืดในการปรับสภาพน้ำ ปรับ PH ของน้ำ รวมถึงการกรองน้ำด้วยถ่าน จากฐานตนเอาถ่านอีกด้วยเวลา 15.30 – 18.30 น. ลงพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ เพื่อรับทราบปัญหา อุปสรรค พร้อมให้คำแนะนำ ในพื้นที่อำเภอบางบ่อ จำนวน 2 แปลง อำเภอบางพลี 1 แปลง ดังนี้
1. อำเภอบางบ่อ จำนวน 2 แปลง โดยนางพัชรินทร์ สมหอม พัฒนาการอำเภอบางบ่อ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอบางบ่อ นำลงพื้นที่ ซึ่งพื้นที่แปลงมีเงื่อนไข ข้อจำกัด และได้รับคำแนะนำ ดังนี้
1.1 ครัวเรือนนางเปรมวดี บุญมี บ้านเลขที่ 56 บ้านวัดนิยมยาตรา หมู่ที่ 3 ตำบลคลองนิยมยาตรา อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา” ขนาด 3 ไร่ มีข้อจำกัดในเรื่องของแปลงพื้นที่มีสภาพเป็นบ่อเก่า มีการปรับปรุงสภาพแปลงในลักษณะรูปแบบโคก หนอง นา อยู่แล้ว จะมีพื้นที่ขุดเพื่อให้ได้ปริมาตรดินค่อนข้างจำกัด แต่มีบริเวณพื้นที่เดิม ที่เคยเป็นนามาก่อน ซึ่งอาจารย์ป้ำได้ให้คำแนะนำให้ขุดร่องน้ำในนา ในพื้นที่ด้านหน้าแปลง โดยไม่จำเป็นต้องลึกถึง 3 เมตร เอาดินขึ้นมาปั้นเป็นคันนา ทำคันนาทองคำ และให้ทำจุดสัญลักษณ์อ้างอิง ( GL +/- 0.00) และถ่ายรูปพื้นที่ก่อนขุด ให้ขุดคลองไส่ไก่เชื่อมระหว่างบ่อ (ข้างเถียงนา) กว้าง 3 เมตร โดยให้ทำเป็นตะพัก ดินที่ขุดให้เอามาทำเป็นโคกไล่ระดับ ปลูกพืขผักสวนครัว นอกจากนี้ยังได้แนะนำให้ใช้ระบบน้ำวน เพื่อเป็นการบำบัดน้ำ โดยใช้พลังงานจาก solar cell เป็นตัวดันน้ำ
1.2 ครัวเรือนนายณัฐวุฒิ แป้นถึง บ้านเลขที่ 141 บ้านบางนางเพ็ง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา” ขนาด 1 ไร่ มีข้อจำกัดในเรื่องสภาพแปลงมีลักษณะเป็นบ่อเก่า ดินสไลด์เมื่อเกิดการขุด และเป็นดินเหนียว ซึ่งอาจารย์ป้ำได้ให้คำแนะนำว่า ให้ทำตามแบบที่นายณัฐวุฒิ แป้นถึง ร่างขึ้นมา โดยให้ย้ายนามาใกล้บ้าน ให้มีการระบายน้ำออกโดยการเจาะ ขุดลึกได้ประมาณ 2 เมตร กรณีปริมาณดินไม่พอ ให้ขุดเป็นร่องน้ำ เปลี่ยนทางน้ำ สร้างคลองไส้ไก่ ขนาดตามความเหมาะสมของพื้นที่ และนำดินที่ได้จากการขุด ไปถมพื้นที่ให้เป็นโคก เพื่อใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกใหม่อีกด้านหนึ่งของแปลง สำหรับปัญหาสภาพบ่อเก่า อ.ป้ำ ให้มุมมองว่าพื้นที่นี้ ให้มองว่าไม่เป็นบ่อเก่า แต่เป็นที่นาเดิมและมีถนนที่มาทำภายหลัง ทำให้ที่นามีความสูงต่ำกว่า แนะนำการปั้นคันนาให้สูงอย่างน้อยเสมอถนน
2. อำเภอบางพลี จำนวน 1 แปลง โดยนางสาวยุคลพร เขียวม่วง หัวหน้าฝ่ายอำนวยการศูนย์สารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการอำเภอบางพลี นำลงพื้นที่ ซึ่งพื้นที่แปลงมีเงื่อนไข ข้อจำกัด และได้รับคำแนะนำ ดังนี้
ครัวเรือนนางจุทุมพร นินยะมาสิริ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา” ขนาด 3 ไร่ มีข้อจำกัดในเรื่องที่ดินติดลำรางสาธารณะ และมีร่องน้ำเก่าในพื้นที่ ซึ่งอาจารย์ป้ำได้ให้คำแนะนำว่า พื้นที่ก่อนขุดต้องทำให้แห้ง และให้เอามื้อสามัคคีในการกำจัดวัชพืช หญ้า ให้หมดเสียก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการทำจุดสัญลักษณ์อ้างอิง ( GL +/- 0.00) พร้อมถ่ายรูปพื้นที่ก่อนขุด กรณีปริมาณดินไม่พอ ให้ขุดเป็นคลองไส้ไก่เพิ่ม กว้างประมาณ 1 เมตร
จากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการในวันนี้ ทำให้ครัวเรือนต้นแบบศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา ” พช.สมุทรปราการ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการพื้นที่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาน้ำเค็ม เนื่องจากพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาของการขาดแคลนน้ำ แต่มีปัญหาน้ำเค็ม ดินเค็ม และมีทิศทางการดำเนินโครงการฯ ที่ชัดเจนมากขึ้น มีความมั่นใจ เชื่อมั่นการทำงานของข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไข และขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีรูปแบบใหม่ “โคก หนอง นา ในพื้นที่เขตเมือง” ของจังหวัดสมุทรปราการให้เกิดผลสำเร็จอย่างเต็มกำลังความสามารถของชุมชน
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรปราการ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด อาทิ การวัดอุณหภูมิร่างกาย การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และเว้นระยะห่างตามมาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ
สมุทรปราการ : เมืองปลาสลิด ใกล้ชิดนกนางนวล
ภาพถ่าย:ข่าว กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สพจ.สมุทรปราการ