วันที่ 10 เมษายน 2564 เวลา 10.30 น. นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับและได้รับเกียรติให้รับโล่เกียรติคุณเพื่อเชิดชูเกียรติในฐานะให้การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” จาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “โครงการสานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นที่ 38 ณ ห้องแสงเดือน ชั้น 2 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า (RAMA 9 MUSEUM) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
พร้อมด้วย นายอารีย์ วงศ์อารยะ รองประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” , นายชยาวุธ จันทร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองอธิบดีกรมการปกครอง โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และผู้บริหารโครงการฯ ร่วมให้การต้อนรับ
โครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรวมพลังองค์กร ภาครัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมกันพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา ที่มีฐานะทางครอบครัวยากจน มีความประพฤติดี แต่ขาดโอกาส ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ประสบการณ์ ทักษะ และการอยู่ร่วมกัน ในสังคมพหุวัฒนธรรมเดียวกันกับครอบครัวอุปถัมภ์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง
ตลอดระยะเวลา 16 ปี ได้ดำเนินโครงการฯ มาแล้ว 37 รุ่น มีเยาวชนผู้ผ่านโครงการฯ กลับไปทำประโยชน์เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม แล้วจำนวน 8,666 คน ในปี พ.ศ. 2564 นี้ คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินโครงการ เป็นรุ่นที่ 38 นำเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 320 คน โดยเป็นเยาวชน อิสลาม จำนวน 246 คน เยาวชนพุทธ จำนวน 74 คน และครูพี่เลี้ยง จำนวน 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 24 เมษายน 2564
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากดำริของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งได้รวมพลังทุกภาคส่วน เพื่อมอบโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมาเป็นประธานเปิดโครงการฯ ด้วยตนเองเกือบทุกครั้ง และทุกครั้ง ท่านจะให้โอวาท โดยกล่าวถึง “ความเป็นไทย ความเป็นธรรม” และ “เกิดมา ต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
ทั้งนี้ จากอดีตถึงปัจจุบัน เยาวชน “สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้นำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ กลับไปพัฒนาต่อยอดคุณภาพชีวิตของตน และสังคม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมกันแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความสุขสมานฉันท์ต่อไป