วันที่ 11 เมษายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. วงเงินงบประมาณ 4,787,916,400 บาท ดำเนินการในพื้นที่ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบประมาณทั้งสิ้น 1,195,836,000 บาท พื้นที่ดำเนินการ 11,414 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 76 จังหวัด จากการดำเนินงานตามโครงการฯ ในกิจกรรมที่ 2 ประสบปัญหาในระดับพื้นที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 ที่มีผลบังคับใช้ในโครงการดังกล่าว กรณีขุดบ่อหรือหนองที่มีความลึกเกิน 3 เมตร ตามการออกแบบตามหลักภูมิสังคม
กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้มีหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอให้คณะกรรมการการขุดดินและถมดินเพื่อพิจารณาว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าข่ายกรณีให้ใช้พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 บังคับแก่การขุดดินและถมดินตามมาตรา 5
แห่งพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 หรือไม่
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือตอบข้อหารือ ตามหนังสือที่ มท 0710/4723 ลงวันที่ 1 เมษายน 2554 แจ้งว่าคณะกรรมการการขุดดินและถมดินได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้วเห็นว่า กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2552 ข้อ 2 (1) (2) และ (7) กำหนดให้กรมการพัฒนาชุมชนมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ และแนวทางในการพัฒนาชุมชนระดับชาติเพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการพัฒนาชุมชน ได้ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความสามารถและความเข้มแข็งของชุมชน จัดทำและพัฒนาระบบมาตรฐานการพัฒนาชุมชน และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่กระทรวงมหาดไทย หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมายตามลำดับ
เมื่อโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. ได้ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้แบบมาตรฐานการขุดดินและถมดินตามโครงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมศิษย์เก่า วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบกับข้อเท็จจริงที่กรมการพัฒนาชุมชน และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชี้แจงกับคณะกรรมการการขุดดินและถมดินว่าแบบแปลนดังกล่าว ออกแบบ
โดยผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา กรณีการขุดดินมีความลึกเกิน 3 เมตร จะออกแบบโดยผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร อีกทั้งในการดำเนินการขุดดินในโครงการจะมีผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมเป็นผู้ควบคุมงานเพื่อให้โครงการมีการดำเนินการถูกต้องตามหลักวิชาการ
ดังนั้น การขุดดินและถมดินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่ดำเนินการโดยกรมการพัฒนาชุมชนตามแบบมาตรฐานการขุดดินและถมดินโครงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จึงเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายและได้กำหนดมาตรการในการป้องกันอันตรายไว้แล้ว จึงเข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 5 ที่กำหนดให้พระราชบัญญัติ การขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 มิให้ใช้บังคับแก่การขุดดินและถมดินซึ่งกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายอื่นที่ได้กำหนดมาตรการในการป้องกันอันตรายไว้ตามกฎหมายนั้นแล้ว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมการพัฒนาชุมชนได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ทราบและถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พช.และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน จึงได้แจ้งแนวทางการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบและถือปฏิติตามแนวทางที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ขอให้ใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป