วันที่ 5 เมษายน 2564 เวลา 11.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ถนนแจ้งสนิท อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นตัวแทนส่งมอบจักรเย็บผ้าพร้อมโต๊ะอุปกรณ์ จำนวน 53 หลัง ในลักษณะการให้ยืมเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะเปลี่ยนหมุนเวียนให้กลุ่มที่มีความประสงค์ยืมจักรดังกล่าวต่อ แต่หากกลุ่มเดิมประสงค์จะยืมต่อก็ให้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่อทำสัญญายืมใหม่อีกครั้ง
ตามที่รัฐบาลกำหนดนโยบายสร้างรายได้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศในระยะเวลา 4 ปี ในการสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชน ส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศภายใต้การทำงานแบบบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นรูปธรรม โดยนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการคือสนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและงานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างเอกลักษณ์การผลิตสินค้าในท้องถิ่น โดยกำหนดให้มีการดำเนินการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้มีศักยภาพด้านการสนับสนุนให้ชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการ พร้อมส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลังเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน คือ ผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นผ้าทอที่ทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นที่รู้จักทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงต้องการพัฒนาให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการแปรรูปการออกแบบ การส่งเสริมการเชื่อมโยงการตลาดกับภายนอก และด้านอื่นๆ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนมั่นคงได้อย่างแท้จริง จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนขึ้น โดยใช้งบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชนจัดสรรให้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างโอกาสทางการตลาดและรายได้ให้แก่ชุมชน และพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ในกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ และสามารถนำความรู้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนได้
โดยในกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ได้ดำเนินการในรูปแบบการจัดหาครุภัณฑ์ด้วยระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จำนวน 2 รายการ งบประมาณรวม 873,500 บาท ประกอบด้วย
1)จักรพันริม แบบอุตสาหกรรม จำนวน 3 หลัง
2)จักรอุตสาหกรรมแบบเย็บผ้า พร้อมโต๊ะและอุปกรณ์ จำนวน 50 หลัง
โดยมีกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP จากพื้นที่ รับมอบจักร ดังนี้
1)จักรพันริม แบบอุตสาหกรรม จำนวน 3 หลัง ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP จากอำเภอเขมราฐ 1 หลัง อำเภอโขงเจียม 1 หลัง และอำเภอน้ำขุ่น 1 หลัง
2)จักรอุตสาหกรรมแบบเย็บผ้า พร้อมโต๊ะและอุปกรณ์ จำนวน 50 หลัง ได้แก่ อำเภอเขื่องใน 6 หลัง / อำเภอนาจะหลวย 4 หลัง / อำเภอกุดข้าวปุ้น 4 หลัง / อำเภอเดชอุดม 3 หลัง / อำเภอตระการพืชผล 3 หลัง / อำเภอเมืองอุบลราชธานี 2 หลัง / อำเภอพิบูลมังสาหาร 2 หลัง / อำเภอโพธิ์ไทร 2 หลัง / อำเภอนาตาล 2 หลัง / อำเภอทุ่งศรีอุดม 2 หลัง / อำเภอเหล่าเสือโก้ก 2 หลัง / อำเภอเขมราฐ 2 หลัง / อำเภอสิรินธร 2 หลัง / อำเภอน้ำยืน 2 หลัง / อำเภอนาเยีย 2 หลัง / อำเภอตาลสุม 2 หลัง / อำเภอศรีเมืองใหม่ 2 หลัง / อำเภอโขงเจียม 2 หลัง / อำเภอสว่างวีระวงศ์ 1 หลัง / อำเภอสำโรง 1 หลัง / อำเภอน้ำขุ่น 1หลัง และอำเภอวารินชำราบ 1 หลัง
โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้กล่าวพบปะกับกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับมอบจักรทั้ง 53 กลุ่ม ว่า “จักรดังกล่าวถือเป็นคุรุภัณฑ์และเป็นสมบัติของทางราชการ การมอบให้กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP นำไปใช้ครั้งนี้ เป็นลักษณะการให้ยืมโดยมีระยะเวลา 1 ปีและจะเปลี่ยนให้กลุ่มที่มีความประสงค์ยืมจักรดังกล่าวต่อ แต่หากกลุ่มเดิมประสงค์จะยืมต่อก็ให้ประสานเจ้าหน้าที่เพื่อทำสัญญายืมใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ให้กลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการดูแลรักษาสภาพของจักรที่ได้รับมอบหมายในครั้งนี้ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้สมบูรณ์ อุปกรณ์ครบถ้วน นอกจากนั้น โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน กิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาผ้าไทย เมื่อนำไปสู่การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP แล้ว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง สามารถสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย” นายคมกริชฯ กล่าวทิ้งท้าย
อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน