พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พสกนิกรทุกหมู่เหล่า เฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมี และรับ-ส่งเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ไปทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 20 มีนาคม 2564 เมื่อเวลา 17:43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และทรงเปิดวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ในโอกาสนี้ เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จในการนี้ด้วย

เมื่อประทับเรือยนต์พระที่นั่งถึงยังท่าเทียบเรือหน้าวัดนิเวศธรรมประวัติ นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเด่นชัย ศรีจุลฮาต ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พลโท เจริญชัย หินเธาว์ แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจโท อำพล บัวรับพร ผู้บังคับบัญชาตำรวจภูธรภาค 1 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธนฤมลธรรโมภาส พระประธานพระอุโบสถ ที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการทรงออกแบบให้มีพุทธลักษณะคล้ายสามัญชน ผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตก บริเวณฐานชุกชีมีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนของโบสถ์โบสถ์คริสต์ ฝาผนังโบสถ์ด้านหน้าพระประธานมีพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐ์ด้วยกระจกสีสวยงาม

วัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามพระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 2421 ใช้เป็นสถานที่ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน พระอุโบสถและอาคารประกอบต่างๆ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบโกธิค ตามที่แผ่นศิลาภายในพระอุโบสถได้จารึกไว้ว่า ประสงค์ที่จะบูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด และเพื่อให้ประชาราษฎร์ทั้งปวงชมเล่นเป็นของแปลก ต่อจากนั้น ทรงพระดำเนินไปอย่างพิพิธภัณฑ์วัดนิเวศธรรมประวัติ ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณ ศาสนวัตถุ และสิ่งของสำคัญที่เก็บรวบรวมไว้ จัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์วัดนิเวศธรรมประวัติขึ้นเมื่อปี 2533 มีอาคารจัดแสดง 3 อาคาร ได้แก่ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารพิพิธภัณฑ์ตำหนักสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และอาคารพิพิธภัณฑ์ตาลปัตร (หอกลอง)

 

จากนั้น ทอดพระเนตรอาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ในโอกาสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และในโอกาสสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ ปีพุทธศักราช 2555 ในการดำเนินงานได้ยึดรูปแบบและแผนผังเดิมที่ออกแบบไว้ภายใต้แนวคิดหลัก 3 ประการคืออนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปะสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ อนุรักษ์และส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสอดคล้องในพื้นที่พระราชวัง และกำหนดแนวกิจกรรมให้เหมาะสมกับความเป็นศาสนสถานที่ตั้งอยู่ใกล้พระราชวัง

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรการจัดแสดงตาลปัตร ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ตาลปัตร (หอกลอง) ภายในได้จัดแสดงตาลปัตรและพัดรอง ซึ่งเป็นของถวายเป็นพุทธบูชาและที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา แล้วจัดแสดงพัดรองที่ระลึกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ถวายแด่พระราชาคณะ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รวมถึงพัดรองฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ออกแบบและทรงเขียนตาลปัตร พัดรอง สำหรับใช้ในโอกาสสำคัญต่างๆ ตาลปัตรหรือพัดของพระสงฆ์ เป็นเครื่องสำหรับพระภิกษุถือบงั้นหน้าในพิธีกรรม เช่น ในเวลาให้ศีลและแสดงธรรมอยู่ ในยุคแรกนั้นทำด้วยใบตาล ต่อมาได้พัฒนาการตามยุคสมัย ซึ่งทำขึ้นจากโครงเหล็กหุ้มเนื้อผ้าชนิดต่างๆ ส่วนพัดรอง คือชื่อเรียกเฉพาะที่ทำขึ้นเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีสำคัญและงานบุญต่างๆ

ต่อจากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปยังพลับพลาพิธี ณ อาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ระหว่างสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนิน มีประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างเนืองแน่น ทั้งนี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ณ วัดนิเวศธรรมประวัติอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน เป็นจำนวนถึง 6 ครั้ง ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ บูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ทรงศีล และทรงเปิดอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร ซึ่งทางวัดนิเวศธรรมประวัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร จัดตั้งขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ปีพุทธศักราช 2555 โดยเปิดการเรียนการสอนครั้งแรกปีการศึกษา 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาที่เป็นพระภิกษุ สามเณร มีโอกาสได้ศึกษาต่อและเป็นการขยายโอกาสด้านอาชีวศึกษาให้กับพระภิกษุ สามเณร ให้มีสมรรถนะและทักษะวิชาชีพในการปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม โอกาสนี้ พระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินสมทบทุนภัตตาหารกลางวัน และการอาพาธของนักเรียน สามเณร ปัจจุบัน วิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้นใน 6 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาช่างเชื่อมโลหะ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาช่างยนต์ สาขาวิชาเทคนิคอุตสาหกรรม สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมส์และแอนิเมชั่น และสาขาวิชาเครื่องกล มีพระภิกษุและสามเณรนักเรียนจำนวน 109 รูป โดยร่วมมือกับสถานศึกษาและสถานประกอบการที่หลากหลาย เพื่อแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ ในการพัฒนาพระภิกษุสามเณรนักเรียน ให้มีความเชี่ยวชาญและก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ควบคู่ไปกับศาสนทายาทที่ดี มีศีล มีธรรม ด้านอัตลักษณ์ของวิทยาลัย ความรู้ดี ทักษะเด่น เน้นคุณธรรม ดำรงพระพุทธศาสนา

โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นจันไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้โบราณควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากนั้น ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการภายในอาคารวิทยาลัยเสริมทักษะพระภิกษุ สามเณร จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่โครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดนิเวศธรรมประวัติ และการพัฒนาระบบการศึกษาของพระภิกษุและสามเณร พระราชทานพระบรมราโชบายด้านการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ การมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรมมีงานทำมีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี นิทรรศการความเป็นมาของวิทยาลัย การจัดการเรียนการสอนใน 6 สาขา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้น้อมนำพระบรมราโชบายมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสามเณร นักเรียน นักศึกษา อาทิ คอมพิวเตอร์เกมส์และอนิเมชั่น ที่เน้นการเรียนการสอนเกี่ยวกับการสร้างสื่อแอนิเมชั่นในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ภาพยนตร์โฆษณาและการ์ตูนอนิเมชั่น ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกต่างๆ มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย และเพียงพอต่อจำนวนสามเณร นักเรียน นักศึกษา

ขอบคุณ : ช่างภาพสื่อมวลชน/อยุธยา
ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา