วันที่ 17 มีนาคม 2564 เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมอโยธยา ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา(ศปก.จ.อย) โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คณะกรรมการฯ หน่วยงานภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในการป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ สะสมทั้งสิ้น 60 ราย รักษาหายแล้ว 58 ราย รักษาอยู่ 2 ราย
โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอความคืบหน้าการจัดทำผังข้อมูลตลาดและทะเบียนผู้ค้า ทุกตลาดในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงรายงานปัญหาของตลาดที่ไม่ดำเนินตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 20 และให้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรการของกรมควบคุมโรค รวมถึงหารือแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ตามที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำหนดให้พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง ดังนั้น เพื่อให้การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จำเป็นสำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสูง
ซึ่ง ศบค. กำหนดอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อ 7 (1)ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2564 ได้มีคำสั่งผ่อนคลายให้สนามมวยซึ่งเคยถูกสั่งปิดดำเนินการไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1/2564 (ฉบับที่ 20) สามารถเปิดดำเนินการได้ตามความสมัครใจและความพร้อม
ทั้งนี้ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสนามมวย และเจ้าของสถานที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ข้อแนะนำ แนวทาง รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม หรือปรากฏว่ามีพฤติการณ์ที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว พร้อมทั้งหารือมาตรการช่วยเหลือแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019