สบพ. ร่วมกับ Sasin จัดงานสัมมนา “การสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของสถาบันการบินพลเรือน ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)”

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานสัมมนา “การสื่อสารทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนวิสาหกิจของสถาบันการบินพลเรือน ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568)” ต่อหน่วยงานผู้กำกับดูแล (Regulators) ผู้กำหนดนโยบาย (Policymaker) และผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ (Stakeholders) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดยมีนางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือนเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

การสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนวิสาหกิจของสถาบันการบินพลเรือน ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ตามที่ทราบกันดีว่าภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาวิกฤตอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการบิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นและความต้องการศึกษาต่อในด้านการบิน จึงเป็นเหตุให้รายได้ของ สบพ. ลดลงอย่าง มีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 – 3 ปีข้างหน้า เมื่อการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีความคืบหน้าและใช้แพร่หลายมากขึ้น และมีการเปิดการเดินทางในลักษณะต่าง ๆ ระหว่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น สบพ. จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินในอนาคตเมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป

การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของ สบพ. ในระยะ 5 ปี ภายใต้แผนวิสาหกิจสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2564 – 2568 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับองค์กร ที่ใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานในอนาคต และเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถขององค์กร เพื่อให้ สบพ. สามารถผลิตบุคลากรด้านการบินที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลอย่างเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมการบินของไทย

การมีส่วนร่วมของหน่วยงานผู้กำกับดูแล ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงเป็นประเด็นสำคัญ ในการแสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงความคาดหวังต่อทิศทางการดำเนินงานของ สบพ. ภายใต้แผนวิสาหกิจของสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ. 2564 – 2568 เพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ ตามวิสัยทัศน์ และพันธกิจของ สบพ. ที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่อให้ สบพ. ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมการบิน ของประเทศให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

โดยการสัมมนาในครั้งนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในด้านอุตสาหกรรมการบิน ทั้งภาครัฐเเละเอกชน เพื่อเป็นแนวทางในการเสนอผลการวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินรวมถึงความต้องการแรงงานและบทบาทของ สบพ. ในอนาคต ต่อไป ประกอบกับวันนี้มีเรื่องที่น่ายินดีจาก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO) ที่แจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการว่า สถาบันการบินพลเรือนได้ยกระดับจากสมาชิกประเภท Full Member ขึ้นเป็นสมาชิกประเภท Regional Center of Excellence เป็นที่เรียบร้อย จึงแสดงให้เห็นว่าสถาบันการบินพลเรือนเป็นสถาบันที่มีความพร้อมสามารถ ผลิตและพัฒนาบุคลากรการบินให้มีความรู้ตามมาตรฐานสากล มีทักษะ และศักยภาพเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งบุคลากรการบินถือเป็นองค์ประกอบสำคัญขององค์กรในการจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบิน (Regional Aviation Hub) ระดับอาเซียน ต่อไป