พช.นนทบุรี จับมือ 2 ภาคีเครือข่ายระดับจังหวัด ทำMOU ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”

วันที่ 1 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมงามวงศ์วาน ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนนทบุรี

โดยมี นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับ นายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี และนางสาวอินทิรา เจียระสุพัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดนนทบุรี ร่วมลงนามในการประสานความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” จังหวัดนนทบุรี โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอทั้ง 6 อำเภอ ท้องถิ่นอำเภอเมืองนนทบุรี และผู้แทนจากหน่วยงานสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้

นายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ในการจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เห็นได้ว่าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนนทบุรี มีความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยรัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติ

โดยให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาฐานราก และสร้างความเข้มแข็งจากภายในที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการพึ่งตนเอง คือทำให้หมู่บ้าน มีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญ และยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การยึดความพอดีหรือทางสายกลาง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินงานสร้างความสมดุล สร้างภูมิคุ้มกัน ภายใต้การมีคุณธรรมและจริยธรรม โดยสอดคล้องกับภูมิสังคมที่แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของปัจจัยพื้นฐาน ด้านศักยภาพ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ เช่นการบริหารจัดการน้ำ และพื้นที่การเกษตรด้วย “โคก หนอง นา โมเดล”

ด้านนางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า เนื่องด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ได้เห็นชอบและอนุมัติแผนงานโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงานและบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพ กลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ด้านนายชาญวิชญ์ สิริสุนทรานนท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนนทบุรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินงานคำนวณและออกแบบพื้นที่ เพื่อให้เข้ากับบริบทของพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ร่องสวน โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อำเภอเพื่อคำนวณพื้นที่และออกแบบด้านการขุดบ่อ ขุดคลองโดยให้สอดคล้องกับตามหลักการและแนวคิดของ “โคก หนอง นาโมเดล”

ด้าน นางสาวอินทิรา เจียระสุพัฒน์ ท้องถิ่นจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนนทบุรี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ โดยพร้อมดำเนินการประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่อำเภอ เพื่อช่วยในการดูแลในขั้นตอนการออกแบบ วัดระยะพื้นที่ จนถึงขั้นตอนกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และชุมชนอย่างสูงสุด

สำหรับการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของจังหวัดนนทบุรี มีพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 10 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอบางใหญ่ 4 พื้นที่ อำเภอบางกรวย 2 พื้นที่ อำเภอปากเกร็ด 2 พื้นที่ อำเภอไทรน้อย 1 พื้นที่ และอำเภอเมืองนนทบุรี 1 พื้นที่ ซึ่งมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาคน ให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีการช่วยเหลือแบ่งปันกันในชุมชน มีการพึ่งพาตนเอง สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีการนำความรู้ทั้งความรู้ตามแนวทางทฤษฎีใหม่ ความรู้ด้านภูมิปัญญาพื้นบ้าน และความรู้สมัยใหม่ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับภูมิสังคม และแสวงหาเครือข่าย องค์กรภาคีในทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำงานแบบบูรณาการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน.