กรมชลประทาน เผยโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามแนวพระราชดำริ ช่วยบรรเทาและลดปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงวันที่ 7 – 9 พ.ย. 61 เนื่องจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากปกคลุมพื้นที่ จ.ชุมพร ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของที่ตั้งตัวเมืองชุมพร ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มสองฝั่งคลองท่าตะเภา ซึ่งคลองท่าตะเภานี้เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านเมืองชุมพร มีความลาดชันมาก ต้นน้ำอยู่ที่ตำบลนากระตาม มีลำน้ำสาขาที่สำคัญ 2 สาย คือ คลองท่าแซะ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และคลองรับร่อ ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี เขตแดนไทย-พม่า อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ไหลมารวมกันที่ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร
จากสถานการณ์ฝนที่ตกหนักติดต่อกันหลายวัน วัดปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยได้มากกว่า 250 มิลลิเมตร ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากจากคลองท่าแซะและคลองรับร่อลงมาอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำในคลองท่าแซะที่สถานีตรวจวัดทางอุทกวิทยา X.64 อ.ท่าแซะ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 640 ลบ.ม./วินาที (สูงกว่าตลิ่ง 0.17 เมตร) ปริมาณน้ำในคลองรับร่อ ที่สถานีตรวจวัดทางอุทกวิทยา X.248 อ.ท่าแซะ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 799 ลบ.ม./วินาที (สูงกว่าตลิ่ง 1.65 เมตร) คลองท่าตะเภา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีตรวจวัดทางอุทกวิทยา X.158 อ.ท่าแซะ วัดได้ 810 ลบ.ม./วินาที (สูงกว่าตลิ่ง 0.87 เมตร) เมื่อรวมปริมาณน้ำจากคลองพาง ส่งผลให้คลองท่าตะเภามีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,111 ลบ.ม./วินาที (ศักยภาพสามารถรับน้ำได้ 990 ลบ.ม./วินาที) ซึ่งเป็นปริมาณน้ำสูงสุด ในรอบปีการเกิดซ้ำ 15 ปี สูงกว่าที่ได้ออกแบบไว้ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร
การบริหารจัดการน้ำ ก่อนที่น้ำจะไหลผ่านลงสู่เขตเมืองชุมพร กรมชลประทานได้ใช้อาคารชลประทานต่างๆ ในโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามพระราชดำริ (ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา) และแก้มลิงหนองใหญ่เป็นจุดพักน้ำ บริหารจัดการน้ำด้วยการตัดยอดน้ำในคลองท่าแซะเข้าสู่แก้มลิงหนองใหญ่ผ่านคลองละมุในอัตรา 300 ลบ.ม./วินาที และผันน้ำจากคลองท่าตะเภาผ่านประตูระบายน้ำหัววัง ในอัตรา 485 ลบ.ม./วินาที และ ประตูระบายน้ำสามแก้วใหม่ ในอัตรา 306 ลบ.ม./วินาที และควบคุมปริมาณน้ำผ่านประตูระบายน้ำท่าตะเภา ในอัตรา 236 ลบ.ม./วินาที (ระดับน้ำล้นตลิ่งสูง 0.31 เมตร) เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองชุมพร โดยก่อนการดำเนินการได้ประสานแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ทราบโดยทั่วกัน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเกิดอุทกภัย กรมชลประทานได้ดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 8 เครื่อง และเดินเครื่องผลักดันน้ำทั้งหมด 22 เครื่อง รวมทั้งนำรถแบ็คโฮและเจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางการระบายน้ำหน้าอาคารชลประทานต่างๆ ส่วนประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ ต.นากะตาม อ.ท่าแซะ และ ต.บางลึก อ.เมืองชุมพร กรมชลประทานและหน่วยงานต่างๆ ได้ให้การช่วยเหลือ และเข้าฟื้นฟูทำความสะอาดพื้นที่จนเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
จากการบริหารจัดการดังกล่าวข้างต้น ทำให้สถานการณ์อุทกภัยในลุ่มน้ำคลองท่าตะเภากลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 3 วัน
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สามารถป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดชุมพรได้ ด้วยโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ตามพระราชดำริ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวชุมพร ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร “ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น” เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่น้ำไม่เคยท่วมจังหวัดชุมพรอีกเลย นับแต่มีพระราชดำริพระราชทานไว้ให้กับชาวชุมพร ตั้งแต่ปี 2541
กรมชลประทาน ตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ได้ร่วมกับส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องวางแผนดำเนินการกำหนดแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ซึ่งในส่วนของลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา สามารถบรรเทาอุทกภัยได้แล้วในระดับหนึ่ง จึงนำมาขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ของจังหวัดชุมพรต่อไป
**********************************
กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์