กรมอุทยานแห่งชาติฯ ลงนามความร่วมมือกับ FAO ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ในประเทศไทย 20-25 % ภายในปี พ.ศ.2573 ตามกลไลเรดด์พลัส

 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดพิธีเปิดโครงการความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ภายใต้หัวข้อการลดก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ (Forest Reference Level : FRL) ตามกลไกเรดด์พลัส (REDD+) พร้อมทั้งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เพื่อร่วมมือหาวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายที่ไทยได้ตั้งไว้ที่ 20-25 % ภายในปี พ.ศ.2573 ตามกลไลเรดด์พลัส

นางสาวรัตนา ลักขณาวรกุล ผู้อำนวยการส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศป่าไม้ สำนักวิจัยการป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวถึงโครงการความร่วมมือดังกล่าวว่า  กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ ภายใต้การดำเนินการกิจกรรมของกลไกเรดด์พลัส คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด และมอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ดำเนินการตามแผนงานของกลไกเรดด์พลัสในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับป่าไม้ เช่น การปลูกป่า งดการเผาป่า เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์หรือก๊าซอื่นๆ อันเป็นสาเหตุสู่การเกิดภาวะโลกร้อน การให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายและสร้างชุมชนต้นแบบกว่า 2 หมื่นแห่ง ในการร่วมกันสนับสนุนกลไกเรดพลัส

ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯยังได้ร่วมมือกับทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติ ที่ทำงานด้านเรดด์พลัสมายาวนาน และมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ที่จะเข้ามาร่วมมือกับประเทศไทยในการดำเนินการตามโครงการนี้

ด้าน Ms.Pham HangThiThanh ตัวแทนผู้บริหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (FAO) กล่าวว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ มีความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศไทย ทางด้านเทคนิคจากบุคลากรของ FAO ที่ประจำอยู่ที่ภูมิภาคและในสำนักงานใหญ่ ที่กรุงโรม เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายที่ไทยได้ตั้งไว้ที่ 20-25 % ภายในปี พ.ศ. 2573 ตามที่ระบุใน Nationally Determined Contributions (NDCs) ของประเทศตามข้อตกลงปารีส เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ FAO จะพัฒนาเส้นฐานอ้างอิงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ (Forest Reference Level) ให้กับไทย และจะช่วยออกแบบและพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ (National Forest Monitoring System) ให้กับไทย

 

สำหรับประเทศไทย โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯมีความยินดีที่จะได้ร่วมมือกับทาง FAO เพราะประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเส้นฐานอ้างอิงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งกับการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสที่ไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีและให้สัตยาบันเอาไว้ ความรู้ความเชี่ยวชาญจากบุคลากรของFAO ที่ทำงานในระดับนานาชาติ น่าจะมีส่วนช่วยประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก” นางสาวรัตนา กล่าวทิ้งท้าย

ด้านความร่วมมือในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon Partnership Facility, FCPF) ของธนาคารโลก โดยประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 3.6 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 115 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างศักยภาพใการดำเนินงานตามกรอบเรดด์พลัสของประเทศ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับมอบหมายจากทางรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานดำเนินการหลักในการรับเงินสนับสนุนในครั้งนี้ ส่วนความร่วมมือกับทาง FAO ในครั้งนี้จะมีการดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปลายเดือนกันยายน พ.ศ.2562