ภาคกลางของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างถิ่นที่เรากำหนดเป้าหมายจะไปเยือนหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ( otop Village) วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ที่ขับเคลื่อนโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นั้นเป็นหมู่บ้านที่มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แนบแน่นกับสายน้ำเจ้าพระยาและสายน้ำที่ไหลรวมกันเป็นเจ้าพระยา ทั้งการเข้าถึงก็สะดวกสบาย ชาวบ้านก็พร้อมที่จะต้อนรับและแบ่งปันแก่ผู้ที่จะเข้ามาเยี่ยมเยียนด้วยน้ำใจไมตรี
เกาะเกร็ด จังหวัดปทุมธานี เป็นเกาะที่เกิดจากการขุดคลองลัดเกร็ด ส่วนหนึ่งของเกาะเกร็ดเป็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะและเชิงช่างอีกหลายแขนงด้วยกัน เมื่อเราข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดกลางเกร็ด ขึ้นสู่ท่าน้ำวัดฉิมพลี ก็มีการต้อนรับด้วยมอญรำ สาวต่างวัยแต่งกายชุดตามประเพณีด้วยสีสันสดใส ร่ายรำด้วยท่วงท่าที่งามสง่า ก่อนที่จะเข้านมัสการพระประธานโบสถ์วัดฉิมพลี และเดินเท้าต่อไปยังศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ชมงานปั้นที่มีความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญ จากนั้นชมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ขนมหวานหันตรา จ่ามงกุฎ ที่อร่อยแล้วยังมีความสวยงามอีกด้วย แวะเช็คอินที่บ้านมอญโบราณ 200 ปีที่ศาลเจ้าพ่อหนุ่ม สักการะพระประธานในพระอุโบสถวัดปรมัยยิกาวาส พระพุทธรูปนนท์มุนินท์ประจำจังหวัดปทุมธานี ชมเจดีย์เอียงเอกลักษณ์เกาะเกร็ด จากนั้นไปชมการแสดงเจ้าขาวที่จะใช้เล่นเป็นเพลงเรือในฤดูน้ำหลาก ที่ลานวัฒนธรรมหน้าวัดไผ่ล้อม และสักการะพระประธานวัดไผ่ล้อม และวัดเสาธงทอง ชมเจดีย์รูปมะเฟืองขนาดใหญ่ที่เหลือองค์เดียวในโลก สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเที่ยวเกาะเกร็ดทั่วไปมักจะลงเรือข้ามฟากที่วัดสนามเหนือ และสามารถเดินเที่ยวชมได้ทั้งเลี้ยวซ้ายไปทางวัดฉิมพลี และเลี้ยวขวาออกไปทางวัดไผ่ล้อม ซึ่งมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปเที่ยวชมทั้งสองด้าน
ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่บ้านหนองสรวง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จุดหมายที่สอง แวะมากราบนมัสการหลวงปู่เจียม ซึ่งเป็นประติมากรรมพระนอนในพระอุโบสถ ที่วัดกระแชง หรือวัดกระแซง เพราะเดิมลำน้ำหน้าวัดเป็นที่ชุมชนจอดเรือกระแซงที่มาค้าขายข้าวนั้นเอง แล้วจึงนั่งรถกระแทะรับลมเย็น ชมวิวท้องทุ่งมุ่งสู่บ้านหนองสรวง ซึ่งชาวบ้านต้อนรับด้วยรำกลองยาว และเต้นรำกำเคี่ยว ด้วยอาชีพหลักของที่นี่ คือการทำนา จึงมีแปลงสาธิตการทำนาให้ผู้มาเยือนได้ทดลองลงมือด้วยตนเอง ชมฟาร์มจิ้งหรีด การเพาะเห็ด และชิมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเห็ดและจิ้งหรีด สาธิตการเผาไม้เพื่อให้ได้น้ำส้มควันไม้ งานเครื่องจักสานไม้ไผ่เป็นพวงกุญแจ การตกกุ้งที่มีชุกชุมในแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของนักท่องเที่ยว ชิมอาหารที่ปรุงจากผลิตภัณฑ์ชุมชนและผักปลอดสารพิษ ได้ทั้งความเพลิดเพลินและอิ่มอร่อยอย่างเต็มที่ทีเดียว
พระนอนจักรสีห์ พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดสิงห์บุรี ที่ใกล้กัน หมู่บ้านจักสีห์ เป็นหมู่บ้าน otop เพื่อการท่องเที่ยว อีกแห่งในภาคกลาง ซึ่งสืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ตีข้าวบิณฑ์ ถวายพระเพื่อขอพรให้การเกษตรได้ผลดีและความอยู่เย็นเป็นสุข ในช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน ชมการตัดกระดาษบังตาที่ใช้ในงานมงคล ชมศิลปะพร้อมฝึกหัดวาดภาพที่บ้าน “ควายอาร์ต” และชมบ้านเก่าแก่ของขุนบริหารจักสีห์ ทั้งมีผลิตภัณฑ์ otop พร้อมจำหน่ายอีกมากมาย
จากนั้นเดินทางเข้าสู่จังหวัดอ่างทอง หมู่บ้านยางทองชุมชนบ้านเจ้าฉ่า อำเภอโพธิ์ทอง คือจุดหมายหมู่บ้าน otop เพื่อการท่องเที่ยว อีกแห่งหนึ่ง ที่มีประวัติมาตั้งชุมชนโดย เจ้าฉ่า แต่สมัยกรุงศรีอยุธยา บ้านเจ้าฉ่านอกจากทำการเกษตรเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ที่อยู่ติดลำน้ำน้อยแล้ว ยังมีงานจักสานไม้ไผ่ทั้งแบบดั่งเดิม และแบบสมัยใหม่ที่ปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้ออีกด้วย เป็นหมู่บ้านต้นแบบที่เป็นสถานที่ฝึกอบรมการผลิตและจำหน่ายสินค้า otop มีผลกระท้อนจำหน่ายในช่วงฤดูกาล และบริการนั่งรถอีต๊อกชมยางนาและแม่น้ำน้อยอีกด้วย
เส้นทางนี้สามารถเดินทางไปสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มาพักผ่อนเพลิดเพลินกับการท่องเที่ยว รับประทานอาหารอร่อย และซื้อของฝาก otop ที่ถูกใจ หากได้ไปสักครั้งแล้วจะรัก… ในการต้อนรับและไมตรีจิตของชาวบ้านจนอยากจะกลับมาอีกครั้งอย่างแน่นอน