วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เวลา 14.00 น. ณ สถานีสูบน้ำดิบสำแล จังหวัดปทุมธานี นายกวี อารีกุล ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) พร้อมคณะผู้บริหาร กปน. ร่วมให้การต้อนรับ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมคณะผู้บริหารกรมชลประทาน ในโอกาสลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา – แม่กลอง ฤดูแล้งปี 2563/2564 เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และประสบปัญหาการลำเลียงน้ำลงสู่พื้นที่ตอนล่างถึงเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ต่ำกว่าแผนที่กำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมคุณภาพน้ำให้มีค่าความเค็มไม่เกินเกณฑ์วิกฤติ 0.50 กรัมต่อลิตร เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามแผนที่กำหนด
ในการนี้ ผู้ว่าการ กปน. ได้ขอบคุณกรมชลประทาน ในความอนุเคราะห์และความร่วมมืออันดีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ช่วยให้ประชาชนมีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึงและเพียงพอ พร้อมกันนี้ กปน. ได้มีการบรรยายสรุปเกี่ยวกับ ● ภารกิจและพื้นที่ให้บริการ ของ กปน. ● การใช้น้ำดิบของ กปน. ● ที่ตั้งสถานีสูบน้ำดิบ/จุดรับน้ำดิบ/แนวคลองประปา ● ปริมาณน้ำต้นทุนฤดูแล้ง ● ระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำ ● ค่าความเค็มและระดับน้ำ ● การแก้ไขปัญหา ระยะสั้น-กลาง-ยาว เช่น >> ปฏิบัติการ Water Hammer Flow Operation >> เพิ่มกำลังการผลิตน้ำจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ >> สร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากฝั่งตะวันตก >> ปรับปรุงคลองประปา ทั้ว 2 ฝั่ง >> เพิ่มจุดรับน้ำดิบที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็ม เป็นต้น
ด้าน อธิบดีกรมชลประทาน ได้แสดงจุดยืนด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยยึดหลักความประหยัด ทั่วถึง และเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วน แม้ในปัจจุบันจะยังมีความเสี่ยงทั้งภัยแล้งและความเค็ม แต่ก็เชื่อมั่นว่า ความเป็นพันธมิตรที่ดี ระหว่าง กปน. กับ กรมชลประทาน จะช่วยให้สามารถจับมือกันฝ่าวิกฤติไปได้สำเร็จ โดย กรมชลประทาน จะพยายามลำเลียงน้ำมาเก็บกักที่เขื่อนเจ้าพระยาให้มากที่สุด รวมถึงการนำแนวคิดใหม่ มาใช้ในการสร้างกำแพงน้ำสำหรับป้องกันน้ำเค็ม บริเวณคลองลัดโพธิ์ เป็นต้น
———————————–