ยาหอมเป็นยาที่มีสรรพคุณแก้อาการป่วยไข้ที่เป็นกันบ่อยๆ เช่น แก้ลมจุกเสียด คลื่นเหียนอาเจียน เป็นลมวิงเวียน ปวดหัวเวียนหัว บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ ช่วยให้สดชื่น ชูกำลังได้อย่างดี บางตำรับยังใช้แก้อาการนอนไม่หลับ บำรุงประสาท แก้ลมที่มากับไข้ต่างๆ จึงเป็นยาที่ยืนยงอยู่คู่กับสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน
หากใครคิดว่าการใช้ยาหอมเป็นเรื่องคร่ำครึ ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะสภาพอากาศร้อนจัดเช่นทุกวันนี้มักทำให้ธาตุกำเริบได้ง่าย ส่งผลให้ธาตุอื่นๆ พิการ ความแห้งของธาตุไฟจะไปเสริมกำลังของธาตุลม ทำให้ลมกำเริบ อารมณ์คนจะพลุ่งพล่าน จิตใจไม่สงบ อาการเหล่านี้ท่านให้ใช้สมุนไพรที่รสหอมสุขุมอย่างยาหอม ซึ่งมีส่วนประกอบหลักๆ มาจากเกสรดอกไม้หอมหลายชนิดด้วยกัน เช่น มะลิ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ดอกจำปา กระดังงา ลำดวน ลำเจียก เป็นต้น ยาหอมนั้นมีมากมายหลากหลายตำรับ โดยพื้นฐานคือ มีสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมผสมกับสมุนไพรที่สรรพคุณเจาะจงในการรักษาอาการต่างๆ ยาหอมที่เหมาะจะใช้ดูแลร่างกายเมื่อต้องพบเจอกับอากาศร้อน ควรมีทั้งคุณสมบัติเย็นและกลิ่นหอม เพื่อให้ได้รสหอมเย็นชื่นใจ ตัวอย่างเช่น ยาหอมเทพจิตร ซึ่งเป็นหนึ่งในยาสามัญประจำบ้าน มีสรรพคุณใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น แพทย์แผนไทยมักใช้เป็นยาแก้ลมร้อน หรือโรคที่เกิดจากลม อันมีความร้อนเป็นต้นเหตุ เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด ไมเกรน ใช้บรรเทาภาวะความดันโลหิตสูง แก้อาการนอนไม่หลับเพราะความเครียด ร้อนง่ายกระสับกระส่าย ยาหอมจึงเป็นวิธีดูแลสุขภาพกายและใจที่ทันสมัยสำหรับคนยุคนี้
ตำรับยาหอมเทพจิตร
สรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียนคลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ช่วยแก้ลมวิงเวียน ที่เกิดจากความเครียด แก้วิตกกังวล ช่วยผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน ช่วยบำรุงหัวใจ ทำให้นอนหลับสบาย
ประกอบด้วย
ดอกมะลิ หนัก 183 กรัม ผิวส้มซ่า หนัก 28 กรัมดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตรังกานูหรือส้มจุก ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกฐก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 กรัม ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน ดอกกานพลู แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว เนื้อไม้กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชย หัวเปราะหอม รากแฝกหอม หนักสิ่งละ 2 กรัม พิมเสน หนัก 4 กรัม การบูร หนัก 1 กรัม
ใช้บดผง หรือปั้นเป็นลูกกลอนรับประทานครั้งละ 1 – 1.4 กรัม ละลายน้ำสุก เมื่อมีอาการ ทุก 3 – 4 ชั่วโมง ไม่ควรเกินวันละ 3 ครั้ง
ข้อควรระวัง
– ควรระวังการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และ ยาต้านการจับตัวของ
เกล็ดเลือด (antiplatelets)
– ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสมของการบูรและเกิดพิษได้
– ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
นอกจากนี้ ยังมียาหอมอีก 3 สูตร ที่สามารถเลือกใช้ได้ ได้แก่
- ยาหอมทิพโอสถ เหมาะสำหรับ แก้วิงเวียน ทำให้สดชื่น เป็นสูตรพื้นฐานแก้ลมวิงเวียน
- ยาหอมนวโกฐ แก้เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน บรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ท้องอืด แน่น นอนไม่หลับ เหมาะกับวัยปัจฉิมวัยหรือผู้สูงอายุ
- ยาหอมอินทจักร์ สูตรยารสร้อน ช่วยกระจายลม แก้ท้องอืดเฟ้อแน่น ปรับสมดุลอารมณ์ หงุดหงิดง่าย เริ่มเข้าภาวะวัยทองสามารถใช้สูตรนี้บรรเทาอาการได้
หรือท่านที่มีอาการ แต่อยากปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ คลินิกออนไลน์แผนไทยอภัยภูเบศร https://lin.ee/47PRVjiFz