“ยาลดกรด ทานแล้วเสียชีวิต” จริงหรือไม่!!!

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น CNN หรือ The Guardian นำเสนอข่าวที่ว่า ยาลดกรดชนิด Proton Pump Inhibitor นั้น เพิ่มอัตราการเสียชีวิต!! ซึ่งสร้างความตระหนกเป็นอย่างยิ่งกับผู้คนโดยทั่วไป

ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ขอให้ข้อมูลเป็นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวคือ ยาลดกรดกลุ่ม Proton Pump Inhibitors (PPIs) เป็นยาที่ใช้กันเป็นอย่างมากและแพร่หลายในปัจจุบันนับเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานมาตลอดเกือบ 30 ปีตั้งแต่มีการใช้ยาตัวแรก ยานี้สามารถใช้ได้ในหลากหลายกรณี อาทิ ใช้ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ใช้เพื่อป้องกันเลือดออกในทางเดินอาหารในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงหรือมีภาวะเลือดออกง่าย เป็นต้น

ยากลุ่มนี้มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการลดกรดที่สูงมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มพบผลข้างเคียง และข้อจำกัดของยามากขึ้น  ตั้งแต่ปฏิกิริยาระหว่างยาโดยเฉพาะกับยาต้านเกล็ดเลือดที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมักได้รับร่วมกันบ่อยๆ การเกิดแบคทีเรียในลำไส้เล็กเจริญเติบโตมากกว่าปรกติเพราะยาลดกรดนั้นไปรบกวนสภาวะกรดด่างของทางเดินอาหาร การเพิ่มโอกาสการเกิดกระดูกหักโดยเฉพาะกระดูกสะโพกเพราะการดูดซึมแคลเซียมและฟอสเฟตที่ผิดปกติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเสี่ยงโรคไตเสื่อมเรื้อรังรวมถึงภาวะที่ไตได้รับบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน (acute kidney injury) ที่มีรายงานออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 เป็นต้นมา

ข่าวที่ว่ายาลดกรดเพิ่มอัตราการเสียชีวิตนั้น เป็นข้อมูลที่นำเสนอในวารสารแนวหน้าทางการแพทย์อย่าง British Medical Journal (BMJ) โดยทำการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้า รวบรวมข้อมูลการใช้ยาลดกรดชนิดนี้ และติดตามผลไปประมาณ 5 ปี เปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตโดยรวม ไม่ว่าใครที่ได้ฟังหัวข้อข่าวจากผลการศึกษานั้นล้วนตกใจกันเป็นธรรมดา เพราะเราใช้ยาลดกกรดชนิดนี้กันมากจริงๆ อีกทั้งยังซื้อหากันได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป หากทว่า ผลงานวิจัยเรื่องนี้ยังมีจุดน่าสงสัยหลายประเด็น เช่น การที่ไม่ได้แจกแจงโรคและสาเหตุที่เสียชีวิตให้ชัดเจน การที่งานวิจัยมีตัวรบกวนการศึกษาและโรคร่วมอื่นๆ อยู่มาก รวมถึงกลุ่มประชากรที่มีอายุประมาณ 60 ปีส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาวในอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เราก็ควรระวังการใช้ยาลดกรดกันให้ดี เพราะในขณะเดียวกันนั้น ก็มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันมีการใช้ยาลดกรดที่มากเกินความจำเป็น และไม่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมโดยทั่วไปในทุกประเทศ ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยของกลุ่ม “Pharmacy Practice” ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2558 พบว่าแม้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีการใช้ยาลดกรดเกินความจำเป็นอยู่หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (65%) ออสเตรเลีย (63%) นิวซีแลนด์ (40%) และอิตาลี (68%) และโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวหลายโรคก็มักได้รับยานี้พ่วงเพิ่มไปด้วยอยู่บ่อยๆ ทำให้เราเริ่มพบผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าผู้ป่วยหลายคนได้ประโยชน์จากยาไม่คุ้มกับที่เสียไป

จากข่าวนี้ จึงขอให้เราใช้ยาลดกรดอย่างสมเหตุสมผล หยุดใช้ยาเมื่อไม่จำเป็น นอกจากนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคทางเดินอาหาร รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ถือว่าเป็นการรักษาโรคด้วยอยู่แล้วในตัว อย่าลืมว่าการดูแลร่างกายของเราให้แข็งแรงไม่ต้องพึ่งพายารักษาโรค ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษาสามารถติดต่อทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด (โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ (จังหวัดสมุทรปราการ) โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ (จังหวัดนครสวรรค์) โรงพยาบาลพิษณุเวช (จังหวัดพิษณุโลก) และโรงพยาบาลสหเวช (จังหวัดพิจิตร)) และสามารถติดตามสาระดีๆ เกี่ยวกับการแพทย์ได้ที่ www.princhealth.com

………………………………………