เตรียมทัพ รับมือ Cyberbullying

“ทำไมอ้วนจัง ไม่เห็นสวยเหมือนในรูปเลย”

“หน้าตาขี้เหร่ แต่ดันอยากสวย ไม่ดูตัวเองเลย”

“ทำไมหน้าตาดูบ้านนอกจังอ่ะ 555”

รู้หรือไม่คำพูดเหล่านี้ อาจเป็นอาวุธร้ายที่สามารถ “ฆ่า” คนคนหนึ่งได้ โดยที่คนพูดอาจไม่รู้สึกอะไร เพียงเพราะแค่ “สนุกปาก” เท่านั้น การถูกระรานทางออนไลน์เปรียบเสมือนมหันตภัยที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลายราย โดยเฉพาะในสังคม Social Media และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ การระรานทางออนไลน์ในเด็กและเยาวชน

หากถามว่าเพราะอะไรปัญหาการระรานทางออนไลน์ หรือ การบูลลี่ ในเด็กและเยาวชนถึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด จากผลการสำรวจพบว่า เด็กมัธยมไทยกว่า 20% โดนบูลลี่ 35% ไประรานผู้อื่นต่อ 1 ใน 3 รู้สึกสะใจ-เท่ ผู้ตกเป็นเหยื่อจิตตก-เศร้า-อยากแก้แค้น ร้อยละ 17.26 อยากฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “การรับมือกับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย (Cyberbullying)” เป็นการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องนำทัพจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาเพื่อเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก  รองประธานคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และนายกสมาคม สสดย. กล่าวว่า เวทีนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอรูปแบบการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือ กับสถานการณ์การระรานทางออนไลน์ของเด็กไทย พร้อมขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อวุฒิสภา และนำไปสู่การสานพลังแนวร่วมทุกภาคส่วนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการถูกระรานทางออนไลน์ให้เกิดผลมากที่สุด เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน

“การทำให้บุคคลสามฝ่าย คือ ผู้ระราน ผู้ถูกระราน และผู้รับรู้การระราน ได้ตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และเข้าใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละฝ่าย โดยผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้สามารถบรรเทาสถานการณ์ปัญหา และหาทางออก เพื่อให้ทุกฝ่ายในโลกออนไลน์อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น” ดร.ธีรารัตน์ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า การถูกระรานทางออนไลน์ถือเป็นมหันตภัยทางออนไลน์ที่กลับพบเห็นได้ทั่วไป ผู้เป็นเหยื่อมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตจนเกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพตามมา

“ปัญหาการถูกบูลลี่ผ่านโลกออนไลน์ในเด็กและเยาวชน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ สสส. และคณะทำงานร่วมกันผลักดันในการทำข้อมูลในเชิงวิชาการและผลักดันไปสู่นโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง และเกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง ซี่งสิ่งที่ สสส. และ สสดย. ร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติต่าง ๆ เสนอต่อวุฒิสภามี ดังนี้ 1.ระบบการป้องกันปัญหา สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กก่อนอายุ 13 ปี 2.ระบบการช่วยเหลือและเยียวยาเด็กที่ได้รับผลกระทบ มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการทำงานที่จะสามารถช่วยเหลือเหยื่อได้

3.พัฒนาองค์ความรู้และการสื่อสารในสังคม

และ 4.หน่วยงานกลางที่มีความยืดหยุ่นเป็นศูนย์กลางในการดูแลเด็กและเยาวชนอย่างเป็นองค์รวม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา พัฒนาทักษะการเป็นผู้ใช้และสร้างสรรค์สื่อที่มีความรอบรู้ เท่าทัน ควบคู่ไปกับการร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ภายในงานยังได้แนะแนวทางกับการรับมือการถูกระรานทางออนไลน์ในหัวข้อ “ทักษะ 8 ประการ สร้างความฉลาดทางดิจิทัลของเด็กยุคใหม่” อีกด้วย มีอะไรบ้างมาดูกัน

1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเอง (Digital Citizen Identity): สอนให้เด็กจัดการตัวตนและชื่อเสียงออนไลน์ รับผิดชอบต่อการกระทำบนโลกออนไลน์

2.ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ (Screen Time Management): สอนให้ใช้เวลาออนไลน์พอเหมาะพอดี ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

3.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ (Digital Safety Management): สอนให้ยืดหยุ่น เข้มแข็ง รับมือกับการกลั่นแกล้งภัยจากคนแปลกหน้าและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

4.ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ (Digital Security Management): สอนให้รักษาความปลอดภัย ตั้งรหัสผ่านป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ และการโจมตีระบบ

5.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว (Privacy Management): สอนให้รักษาความเป็นส่วนตัว ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

6.ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี (Critical Thinking): สอนให้คิด วิเคราะห์ สืบค้น แยกแยะ ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็นหรือรับมา

7.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ (Digital Footprints): สอนให้ตระหนักว่า การกระทำบนโลกออนไลน์ ย่อมมีร่องรอยให้สืบตามตัวได้เสมอ

8.ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม (Digital Empathy): สอนให้เข้าใจ อภัย เห็นอกเห็นใจคนอื่น บริหารจัดการอารมณ์ตนเองบนโลกออนไลน์

สสส. และภาคีเครือข่ายตระหนักถึงปัญหา Cyberbullying ในเด็กและเยาวชน อย่าปล่อยให้ความสนุก สร้างการสูญเสียต่อชีวิตที่มีคุณค่า มาร่วมกัน เตรียมทัพ รับมือ ป้องกันภัยจากการถูกระรานทางออนไลน์ไปด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน

……………………………….

ที่มา www.thaihealth.or.th