นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งเสริมให้นักวิชาการประมงมีการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการลดต้นทุนในการผลิต แต่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานเพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยล่าสุด กรมประมงได้มีการคิดค้นงานวิจัยเพื่อลดต้นทุนในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ด้วยการใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์ปีก และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตเอทานอลในกิจการอุตสาหกรรม มาทำการผลิตเป็นอาหารเม็ดต้นทุนต่ำสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบโปรตีนที่หาได้ง่าย และมีราคาถูก สามารถทดแทนการใช้ปลาป่น และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีราคาค่อนข้างสูงและยังหาได้ยากอีกด้วย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนการเลี้ยงทั้งหมด ประกอบกับในปัจจุบันปริมาณปลาป่นที่ผลิตได้ทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงและขาดแคลนในบางฤดูกาล ส่งผลทำให้ราคาปลาป่นและกากถั่วเหลืองปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นางพิชญา ชัยนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต กล่าวในรายละเอียดว่า ทางศูนย์ฯ ได้ทดลองนำเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์ปีก และผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลซึ่งมีโปรตีน ไฮโดรไลเสดจากการย่อยเศษเหลือของการแปรรูปปลาทะเลในท้องถิ่น กากปาล์มเนื้อใน และวัตถุดิบอื่นๆ มาผลิตเป็นอาหารสัตว์น้ำชนิดเม็ดแบบลอยน้ำ ให้มีระดับโปรตีน 38-42 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการอัดเม็ดที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดของปากสัตว์น้ำ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้นำร่องใช้อาหารดังกล่าวทดลองเลี้ยงกับปลาทะเลกลุ่มกินเนื้อ ได้แก่ ปลากะพงทอง และปลาช่อนทะเล ซึ่งมีความต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งอาหารเม็ดที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำกลุ่มนี้มีราคาสูงกว่ากลุ่มกินพืช โดยจากการทดลองวิจัยดังกล่าว พบว่า อาหารเม็ดต้นทุนต่ำนี้สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์น้ำได้ไม่น้อยกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้ง ปลาทะเลที่เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดต้นทุนต่ำนี้ พบมีการเจริญเติบโตที่ดีและอัตรารอดสูง รวมถึงคุณภาพเนื้อปลาทะเลไม่ลดลง ไม่มีของเสียจากตัวปลาทะเล และอาหารที่ทำให้เกิดดินและน้ำเสียบริเวณแหล่งเลี้ยงอีกด้วย
/อธิบดีกรมประมง…
-2-
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงยังคงมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพด้าน
การเพาะเลี้ยง เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยจะเร่งพัฒนาสูตรการผลิตอาหารเม็ดต้นทุนต่ำ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพสำหรับใช้เลี้ยงปลาทะเลชนิดอื่น ๆ และปลาน้ำจืด รวมทั้งสัตว์น้ำกลุ่มกุ้งทะเล และกุ้งน้ำจืดต่อไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกษตรกรได้รวมกลุ่มกันผลิตอาหารเม็ดต้นทุนต่ำ คุณภาพดี ไว้ใช้เอง
และขยายผลต่อยอดในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งภูเก็ต กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง โทรศัพท์ 076 621 822 ในวันและเวลาราชการ ©