กรมเจ้าท่า พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมใจปลูกป่า 7 เดือน 7,777 ต้น

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำ พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมใจปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความชุ่มชื้นของพื้นดินในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ร่วมใจปลูกต้นไม้ 7 เดือน 7,777 ต้น ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 – เดือนมิถุนายน 2564

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า ตนมีแนวนโยบายให้กรมเจ้าท่าเป็นมากกว่ากรมเจ้าท่า ซึ่งนอกจากปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหลักแล้ว ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความสามัคคีและมิตรภาพที่ดีระหว่างองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง โดยได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานในสังกัด ดำเนินการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อาทิ กิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ การปลูกต้นไม้เศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูสภาพดินภายในบริเวณพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำให้มีความสมบูรณ์ ทำให้พื้นที่เกิดความชุ่มชื้นและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

สำหรับ โครงการ “กรมเจ้าท่าร่วมพัฒนาแหล่งน้ำ สร้างสิ่งแวดล้อม พร้อมใจปลูกป่า 7 เดือน 7,777 ต้น” เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 ประกอบด้วยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จำนวน 5 สาขา ได้แก่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหนองคาย อุบลราชธานี นครราชสีมา นครพนม และขอนแก่น ซึ่งเป็นสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดโครงการฯ ดังกล่าว โดยปลูกต้นไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ จำนวน 7,777 ต้น อาทิ ต้นชิงชัน พะยูง พะยอม ยางนา อินทนิล ต้นไม้ป่า และต้นไม้ประจำถิ่นในพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ เป็นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือ กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และจิตอาสาในพื้นที่

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ออกสู่บรรยากาศโลกในช่วงเวลากว่า 150 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของกรมเจ้าท่า ได้ขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในการร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน พัฒนาเรือโดยสารทุกรูปแบบให้หันมาใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนเพื่อลดสภาวะโลกร้อนและฝุ่น PM2.5 อีกทั้งการจัดกิจกรรม CSR ต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปลูกหญ้าแฝกบริเวณริมแม่น้ำ การปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ และการปลูกป่าซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยการพึ่งพาของคนและป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทรงส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปลูกป่า การจัดการทรัพยากรและส่งเสริมอาชีพ สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ตนเอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางพระราชดำริที่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการฟื้นฟูและการปลูกป่าอย่างยั่งยืน อธิบดีฯกล่าวทิ้งท้าย
_____________________________
28มกราคม 2564 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม