“การแถลงข่าวตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย”

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน 2561 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคาร สทบ. สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการตรวจจับวัสดุกัมมันตรังสีผิดกฎหมาย ซึ่งศุลกากรได้ตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าเพื่อส่งออกประเทศปลายทางอินเดียผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ปส. โดยละเอียดพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cs-137) น้ำหนักประมาณ 200 กรัม และ เจ้าหน้าที่ สทน. ได้ทำการเก็บกู้ซีเซียม-137 ซึ่งกำกับดูแลความปลอดภัยโดย ปส. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ตามที่กรมศุลกากรได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามการหลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร จึงสั่งการให้ นายชูชัย  อุดมโภชน์   ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบสิทธิประโยชน์ทางศุลกากร มอบหมายให้ นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เข้มงวดในการสกัดกั้นและปราบปรามการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประเทศไทยและประชาคมโลก

นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวถึงประเด็น เหตุการณ์ตรวจพบวัสดุกัมมันตรังสีที่ตู้สินค้าขาออก ณ ท่าเรือแหลมฉบัง ว่าสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง โดยศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร ได้ดำเนินการภายใต้โครงการ Megaports Initiative (MI) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการตรวจจับและสกัดกั้นการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมาย โดยศุลกากรได้ตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าหมายเลข INLU2105838 ตามใบขนสินค้าขาออกเลขที่ A018-1610906119 สำแดงสินค้าประเภทเศษอลูมิเนียม น้ำหนัก 26,340 KGM ประเทศปลายทางอินเดีย โดยตู้สินค้าดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยอุปกรณ์ Radiation Portal Monitor (RPM) พบการแผ่รังสีเกินกว่าค่ามาตรฐานจึงไม่สามารถรับบัตรผ่านเข้าทำเนียบท่าเรือเพื่อนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าเข้าวางเพื่อรอส่งออกได้ จึงต้องนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าวมาตรวจสอบยังสถานีตรวจสอบขั้นที่ 2 (Secondary Inspection Station)

การตรวจสอบสารกัมมันตรังสีโดยอุปกรณ์ Spectroscopic Portal Monitor (SPM) ณ สถานีตรวจสอบขั้นที่ 2 (Secondary Inspection Station : SIS)  พบการแผ่รังสีของ ซีเซียม-137 (Cs-137) และได้ใช้อุปกรณ์ตรวจวัดกัมมันตรังสีแบบมือถือ เพื่อยืนยันผลการตรวจสอบในตู้สินค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operation Procedures) โดยได้ทำการประสานงานกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และปฏิบัติตามคำแนะนำโดยนำตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว ไปอายัดไว้บริเวณ Safety Zone จากนั้นได้ดำเนินการแจ้งหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทราบถึงการตรวจพบ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง  สำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล  กรมเจ้าท่า  ผู้ส่งออก  และท่าเรือ B4

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และผู้ส่งออก ได้มีการประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางในการดำเนินการตรวจสอบทางกายภาพและคัดแยกวัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้นำเสนอแผนการดำเนินการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อคัดแยกวัสดุปนเปื้อนให้กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงแผนการดำเนินการกับตู้คอนเทนเนอร์สินค้าดังกล่าว โดยในวันตรวจสอบ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ทำการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในการตรวจสอบเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยการตรวจสอบได้มีหน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)  สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง และตัวแทนผู้ส่งออก และจากการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว ตรวจพบ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม – 137 (Cs-137) น้ำหนักประมาณ 200 กรัม โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ส่งมอบให้ สทน. เก็บรักษาเพื่อความปลอดภัยและรอการดำเนินการขั้นต่อไป

ด้านนายพิสิษฐ์ สุนทราภัย รักษาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ปส. ได้กำกับดูแลให้การดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน กรณีดังกล่าวได้มีการวางแผนเก็บกู้ และถูกจัดเก็บไว้แล้วอย่างปลอดภัยโดย สทน. จากการตรวจสอบไม่มีการปนเปื้อน และทุกอย่างเป็นไปอย่างปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แน่นอน สำหรับสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป ปส. จะต้องทราบก่อนว่าวัสดุกัมมันตรังสีนี้มาจากที่ใด และต้องพิสูจน์ทราบว่ามีหมายเลข serial number อะไร เพื่อจะสามารถทราบได้ว่าหน่วยใดเป็นผู้ครอบครอง สำหรับอัตราโทษในกรณีดังกล่าว จะมีโทษทั้งจำและปรับ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2แสนบาท

นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวในท้ายสุดว่านับตั้งแต่ริเริ่มโครงการ Megaports Initiative (MI) ในปี พ.ศ. 2554 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการสกัดกั้นการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีที่ผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมีการตรวจพบการกระทำความผิด และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายสำหรับการผลักดันในกรณีที่ศุลกากรตรวจพบวัสดุปนเปื้อนกัมมันตรังสีกลับประเทศต้นทางแล้วจำนวน 19 กรณี ซึ่งกรณีที่ตรวจพบข้างต้นนี้ เป็นการพยายามส่งออกซึ่งวัสดุกัมมันตรังสีโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดตามมาตรา 202  244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560  และมาตรา 76 ประกอบมาตรา 78 และ 79 แห่งพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ดังนั้น สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จึงจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริงตามอำนาจหน้าที่ และมอบหมายให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบังดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายต่อไป

และขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือจนกระทั่งทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยดี ขอให้ประชาชนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ