นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอชี้แจงว่า การยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ ผู้ประดิษฐ์จะพึงดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร หากคำขอสิทธิบัตรมีเอกสารครบถ้วนถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็จะต้องรับคำขอไว้ส่งให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรพิจารณาต่อไป ไม่สามารถปฏิเสธการรับคำขอไปตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอที่ได้รับไว้นั้นจะได้รับการจดสิทธิบัตร เนื่องจากคำขอดังกล่าวจะต้องถูกพิจารณาตามเงื่อนไขและขั้นตอนของกฎหมายสิทธิบัตรก่อนว่า สามารถจะรับจดทะเบียนได้หรือไม่ และคำขอรับสิทธิบัตรจะยังไม่ได้รับความคุ้มครองจนกว่าจะได้รับการจดทะเบียน เรื่องนี้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ โดยที่สารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติเป็นสารสกัดจากพืช เป็นสิ่งที่กฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับสิทธิบัตร ดังนั้น ข้อกังวลที่ว่าบริษัทต่างชาติจะได้รับสิทธิบัตรในสารสกัดกัญชาธรรมชาติจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับข้อกังวลที่ว่า การปลดล็อกกฎหมายเพื่อให้มีการวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชา ทางการแพทย์ของไทยจะไม่มีประโยชน์เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติแล้วนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาเน้นย้ำว่า สารสกัดจากกัญชาซึ่งเป็นสารสกัดจากพืช จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรไทย นั่นหมายถึง จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเจ้าของสิทธิในสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติ ตามกฎหมายสิทธิบัตร ทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้
การวิจัยและพัฒนาในผลิตภัณฑ์ยาที่มีพื้นฐานจากสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ เช่น ตำรับยา (องค์ประกอบที่มีหลายส่วนผสมซึ่งมีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งในนั้น) หรือสารสังเคราะห์ชนิดใหม่ที่ดัดแปลงจากสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติจนมีฤทธิ์ทางยาเหนือกว่าสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ รวมถึงวิธีการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชาเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและให้ความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นแนวทางที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน การปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ดังกล่าว จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการสร้างโอกาสที่จะทำให้นักวิจัยไทยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อใช้ในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ยาที่มีพื้นฐานจากสารสกัดกัญชาตามธรรมชาติ ซึ่งนักวิจัยไทยยังสามารถนำการประดิษฐ์ เช่น ตำรับยา สารสังเคราะห์ชนิดใหม่ หรือวิธีการพัฒนาสายพันธุ์พืชกัญชา จากการวิจัยของตนมาขอจดสิทธิบัตรได้อีกด้วย อันจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยา