ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมประกันภัยมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในภาคครัวเรือน พาณิชยกรรม เกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นเครื่องมือสนับสนุนการขยายตัวทางการค้า การลงทุน และการระดมเงินออมภายในประเทศ จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาประเทศและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิสงเคราะห์ของภาครัฐได้เป็นอย่างดี
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีบทบาทหน้าที่กำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่จะต้องได้รับการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จึงได้จัดตั้ง สำนักงาน คปภ. ภาค และ สำนักงาน คปภ. จังหวัด รวมทั้งสิ้น 9 ภาค 69 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยงานสาขาของสำนักงาน คปภ. ในการปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการให้บริการผู้เอาประกันภัยและประชาชนในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความรู้และการเข้าถึงระบบประกันภัย การให้คำปรึกษาแนะนำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย การให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อประสานงานและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนการออกและต่อใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย รวมทั้งนำยุทธศาสตร์และนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ไปสู่การปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมการประกันภัยเชิงรุก เช่น โครงการประกันภัยข้าวนาปี โครงการ คปภ. เพื่อชุมชน โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โครงการยุวชนประกันภัย โครงการอาสาสมัครประกันภัย การเผยแพร่ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆ ในพื้นที่ที่ สำนักงาน คปภ. ภูมิภาครับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสามารถใช้การประกันภัยบริหารความเสี่ยงของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
จากข้อมูลสถิติธุรกิจประกันภัยของจังหวัดยโสธร ในปี 2560 พบว่า มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง จำนวน 1,207 ล้านบาท แยกเป็นประกันชีวิต จำนวน 791 ล้านบาท และประกันวินาศภัย จำนวน 416 ล้านบาท โดยมีจำนวนรถยนต์ที่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกัน พ.ร.บ.) คิดเป็นร้อยละ 71.29% มีจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ (ประกันภัย พ.ร.บ.) คิดเป็นร้อยละ 32.31% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจประกันภัยมีบทบาท สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ภายในจังหวัดยโสธรและของประเทศเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จังหวัดยโสธร (สำนักงาน คปภ. จังหวัดยโสธร) อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี ) เดิมใช้พื้นที่ขนาด 28 ตารางเมตรของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร ตั้งอยู่เลขที่ 125 หมู่ 5 ถนนแจ้งสนิท ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นที่ทำการ แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน จึงได้ย้ายที่ตั้งสำนักงาน คปภ. จังหวัดยโสธร มายังที่ทำการแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่อาคารพาณิชย์เลขที่ 224/2 หมู่ 3 ถนนแจ้งสนิท ตำบลสำราญ อำเภอเมือง โดยมีพื้นที่ใช้สอย 154 ตารางเมตรมากกว่าที่ทำการเดิมประมาณ 5.5 เท่า สามารถให้บริการแก่ประชาชนที่เดินทางมารับบริการ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวันให้มีประสิทธิภาพและครบวงจรด้านการประกันภัย รวมทั้งกำกับดูแลให้บริษัทประกันภัย ตัวแทน นายหน้า โบรกเกอร์ ธนาคารพาณิชย์และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัยปฏิบัติตามกฎ กติกา ของสำนักงาน คปภ. ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับประชาชน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดยโสธรมีจำนวนประชากร 540,211 คน มีสาขาบริษัทประกันชีวิตจำนวน 8 บริษัท 7 สาขา 4 สำนักงานตัวแทน มีบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 11 บริษัท 8 สาขา 4 สำนักงานตัวแทน โดยมีตัวแทนจำนวน 2,877 ราย มีนายหน้าจำนวน 188 ราย และมีธนาคารพาณิชย์ที่ขายประกันจำนวน 11 ธนาคาร รวม 37 สาขา
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่ทำการแห่งใหม่ของ สำนักงาน คปภ. จังหวัดยโสธรแห่งนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับการบริการที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความอบอุ่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้านประกันภัย รวมทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน คปภ. จังหวัดยโสธรทุกคนจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการประชาชน ทั้งในด้านของการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัย ที่ถูกต้อง รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในระบบประกันภัยต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย