การประกาศความสำเร็จของอุตสาหกรรมหมูไทย ที่ร่วมกันป้องกันโรคสำคัญในหมู อย่างแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF โรคระบาดร้ายแรงที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหมูใน 35 ประเทศ หากแต่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมฯต่างๆ และเกษตรกร ได้เตรียมรับมือกับโรคนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่รัฐบาลกลางของจีนรายงานการติดเชื้อเมื่อ 3 สิงหาคม 2561
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้ยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ ด้วยเห็นความสำคัญของโรค ที่ไม่เพียงทำลายวงการหมู เพราะทำให้หมูมีอัตราการตายสูงถึง 100% และยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ที่สำคัญยังสร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้บริโภคที่ต้องแบกรับราคาหมูที่สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า ดังเช่น ประเทศจีน ที่ราคาหมูมีชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 160 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่กัมพูชาราคา 95 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม ลาวราคา 85 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 82 บาทต่อกิโลกรัม
การที่ทุกหน่วยงานพร้อมใจกันยกเรื่องนี้เป็นภารกิจร่วมทั้งภาครัฐและภาคผู้ผลิต จนกลายเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ไทยยังคงสถานะ “ปลอดโรค ASF” เพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชีย มานานกว่า 2 ปี
ส่งผลให้การเลี้ยงหมูของไทยที่สร้างผลผลิตมากกว่า 22 ล้านตัวต่อปี ยังคงเดินหน้าต่อไม่ต้องหยุดชะงักเหมือนกับประเทศอื่นๆรอบบ้านเราที่ได้รับผลกระทบจากโรค ASF กันถ้วนหน้า ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวไทยก็ยังได้ทานเนื้อหมู “ราคาถูกที่สุดในภูมิภาค” จากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มล่าสุดที่กิโลกรัมละ 72-80 บาท ตามประกาศของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
แม้ว่าที่ผ่านมา คนเลี้ยงหมูจะต้องทุ่มเทกับการป้องกันโรคอย่างหนัก ด้วยการมุ่งเน้นมาตรฐานการเลี้ยง ทั้งมาตรฐาน GAP ในฟาร์มขนาดใหญ่ และการยกระดับการเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็กสู่มาตรฐาน GFM ที่เน้นการปกป้องฟาร์มเลี้ยงหมูด้วยจัดการฟาร์มให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity System อย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องอาชีพเดียวของตนเอง
ขณะเดียวกัน ยังช่วยปกป้องคนไทยให้รอดพ้นจากภาวะราคาหมูแพงดังที่ประเทศอื่นกำลังประสบอยู่ ที่ผ่านมาหมูไทยจึงไม่เคยขาดแคลน เพราะภาคผู้ผลิตต่างร่วมกันบริหารจัดการปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้กับผู้บริโภคชาวไทย
ขณะที่ความเข้มแข็งของมาตรการการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ASF ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของภาครัฐ เอกชนทุกฝ่าย ที่ระดมทั้งความคิด ระดมแรงกาย สละเวลา ระดมทุนกันหลายรอบ ซึ่งนับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของผู้เลี้ยงสุกรไทยทั่วประเทศ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดการระบาดของ ASF เป็นที่ต้องการของตลาดประเทศเพื่อนบ้าน สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งหมูพันธุ์ หมูขุนมีชีวิต รวมถึงเนื้อหมูชำแหละ
สอดคล้องกับการประเมินของ OIE ที่ว่า 1 ใน 4 ของสุกรทั้งโลกจะได้รับความเสียหายจาก ASF แสดงว่าประเทศที่ปลอดจาก ASF จะมีโอกาสทางการตลาดจากเนื้อสุกร 25-30 ล้านตัน หรือ 350-400 ล้านตัวต่อปี
วันนี้ผู้ประกอบการฟาร์มหมูครบวงจรและเกษตรกรรายย่อยร่วม 200,000 ฟาร์ม พร้อมจะเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและของประเทศชาติโดยรวม ทำให้อุตสาหกรรมหมูมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมแล้วกว่าสองแสนล้านบาทต่อปี จากการเป็นโซ่ข้อกลางที่สำคัญในการสร้างอุปสงค์ให้กับห่วงโซ่ต่อเนื่อง ในกลุ่มของผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นพืชอาหารสัตว์ของไทย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงผลพลอยได้จากข้าว ทั้งปลายข้าว รำข้าว ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
น่าชื่นชมความสามารถของคนในวงการหมู ที่ร่วมแรงร่วมใจในฐานะ “ทีมไทยแลนด์” เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยอาหารให้กับคนไทย รางวัลที่พวกเขาควรได้รับคือการหันมาบริโภคหมูให้มาก เพื่อช่วยหมุนวงล้อเศรษฐกิจให้คนเลี้ยงหมู และปล่อยให้กลไกตลาดงานอย่างเสรีตามอุปสงค์อุปทานที่แท้จริง ไม่ต่างกับสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ ทั้งไก่ ไข่ กุ้ง ปลา ที่ผู้บริโภคทุกคนคือผู้สนับสนุนคนสำคัญ ให้วงล้อเศรษฐกิจขับเคลื่อน ทำให้เกษตรกรยังคงเดินหน้าอาชีพของพวกเขาสร้างอาหารให้คนไทยต่อไปเช่นเดียวกัน./