แถลงข่าว “สถิติบอกอะไร ผู้สูงวัยปัจจุบันและอนาคต”

วันที่10 เมษายน 2561 นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ แถลงข่าว “สถิติบอกอะไร ผู้สูงวัยปัจจุบัน และอนาคต” ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ ชั้น 4 (ทิศเหนือ) สำนักงานสถิติแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารรัฐประศาสนภักดี กรุงเทพฯ

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยครั้งแรกในปี 2537 และดำเนินการสำรวจครั้งต่อมาในปี 2545 2550 2554 2557 และในปี 2560 เป็นการสำรวจ ครั้งที่ 6 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ภาวะสุขภาพ การเกื้อหนุน ตลอดจนลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากครัวเรือนตัวอย่างจำนวน 83,880 ครัวเรือน ทุกจังหวัดทั่วประเทศทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม พ.ศ. 2560

โครงสร้างด้านประชากรของประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” (Aged society) ตั้งแต่ปี 2548 คือ มีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 10 และตามการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  ในปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete aged society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” (Super aged society) เมื่อประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด

ผลจากการสำรวจประชากรไทย มีจำนวน 67.6 ล้านคน ในปี 2560 เป็นชาย 33 ล้านคน และหญิง  34.6 ล้านคน  มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของประชากรทั้งหมด เป็นชาย 5.08 ล้านคน (ร้อยละ 15.4) และหญิง 6.23 ล้านคน (ร้อยละ 18.0)  เมื่อแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ ผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) ผู้สูงอายุวัยกลาง (อายุ 70-79 ปี) และผู้สูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) จะพบว่า ผู้สูงอายุของไทยส่วนใหญ่จะมีอายุอยู่ในช่วงวัยต้น ร้อยละ 57.4 ของผู้สูงอายุทั้งหมด เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มอัตราของผู้สูงอายุ หมายถึง อัตราส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งสิ้น 100 คน จะพบว่า เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (จากร้อยละ 6.8 ในปี 2537 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 9.4 ในปี 2545  เป็นร้อยละ 10.7 ในปี 2550  ร้อยละ 12.2 ในปี 2554  ร้อยละ 14.9 ในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.7 ในปี 2560)

สำหรับการทำงาน ในปี 2560 ผู้สูงอายุที่ทำงานมี 3.9 ล้านคน หรือร้อยละ 35.1 โดยผู้สูงอายุชายที่ยังคงทำงานอยู่สูงกว่าหญิง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานในฐานะผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง สำหรับอาชีพที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำอยู่ใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตร ผู้ปฏิบัติงานบริการและจำหน่ายสินค้า ผู้ประกอบอาชีพขั้นพื้นฐาน ช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
และผู้ปฏิบัติงานด้านเครื่องจักรและด้านการประกอบ โดยผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ให้เหตุผลที่ยังคงต้องทำงานว่า สุขภาพแข็งแรง ยังมีแรงทำงาน ต้องหารายได้เลี้ยงครอบครัวหรือตนเอง และเป็นอาชีพประจำไม่มีผู้ดูแลแทน

                          แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มาจากบุตร (ร้อยละ 34.7) มากที่สุด รองลงมาคือ จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง (ร้อยละ 31) และได้รับจากเบี้ยยังชีพของทางราชการ ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ (ร้อยละ 20) โดยผู้สูงอายุชายมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่าหญิง และความเพียงพอของรายได้ ที่ได้รับโดยให้ผู้สูงอายุประเมินความรู้สึกของตนเองโดยไม่ใช้จำนวนเงินมาเป็นเกณฑ์วัด พบว่าเกินกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50.3) ผู้สูงอายุตอบว่ามีรายได้เพียงพอ และมีร้อยละ 18.5 ที่ตอบว่ามีรายได้ไม่เพียงพอในการดำรงชีพ

สุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ (จากการให้ผู้สูงอายุประเมินสุขภาพตนเอง) ส่วนใหญ่ตอบว่าตนเองมีสุขภาพปานกลาง หรือเป็นปกติ (ร้อยละ 43.2) และเกือบร้อยละ 40 ประเมินว่าตนเองมีสุขภาพดี ผู้สูงอายุไทยยังคงได้รับสิทธิในสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล (ร้อยละ 99.2) ซึ่งสิทธิในสวัสดิการรักษาพยาบาลหลักที่ได้รับส่วนใหญ่ เป็นสิทธิมาจากบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการหรือข้าราชการบำนาญ และสิทธิประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทน มีเพียงร้อยละ 0.8 ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลัก ผู้สูงอายุไทยที่อยู่ลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.3 ในปี 2545
เป็นร้อยละ 10.8 ในปี 2560 ในขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรสเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 23.3 ในปี 2560 ซึ่งหากผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวหรืออยู่กับคู่สมรสเท่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอีก ก็จะมีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

หากพิจารณาอัตราการพึ่งพิง ในปี 2560 ซึ่งหมายถึง ประชากรวัยทำงาน 100 คน จะต้องรับภาระประชากรสูงอายุและวัยเด็ก 51 คน และคาดว่าเพิ่มเป็น 64 คน ในปี 2570 สังคมไทยควรจะมีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไรในอนาคต เช่น ผู้สูงอายุต้องมีการดูแลสุขภาพทั้งกายและการกินอยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการส่งเสริมการทำอาชีพเสริมและกิจกรรมทางสังคม การปรับสภาพแวดล้อม ที่พักอาศัยและจัดบริการสาธารณะให้มีความเหมาะสม รวมทั้งการขยายอายุการทำงานให้มากกว่าอายุ 60 ปี เป็นต้นการเตรียมรับมือสังคมสูงอายุที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ Pre-aging (ผู้ที่มีอายุ 50 – 59 ปี) เตรียมความพร้อมให้กับตนเองก่อนเป็นผู้สูงวัย ในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับลูกหลาน ถึงแม้ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเกิดปรากฏการณ์สูงวัยเต็มเมือง ก็เป็นสูงวัยเต็มเมืองที่มีความสุข และในขณะเดียวกันก็ควรจะมีการดูแลประชากรวัยเด็ก เพื่อให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคตด้วย