สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : พลูคาว ผักเป็นยา รักษาโรคผิวหนัง ต้านมะเร็ง

พลูคาว อาจจะเป็นผักที่คนในเมืองคงไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าไรนัก เพราะเป็นพืชที่ขึ้นตามธรรมชาติ โดยเฉพาะชาวบ้านในต่างจังหวัด ภาคเหนือ ภาคอีสาน จะนิยมบริโภคผักชนิดนี้มาก โดยกินเป็นผักสดร่วมกับอาหารจำพวกลาบ หรือ ลู่ นอกจากกินเป็นผักแล้ว การใช้ประโยชน์ทางพื้นบ้านก็มีมากมายเช่นกัน หมอยาพื้นบ้านหลายพื้นที่นิยมใช้พลูคาวเป็นยา เช่น การใช้ทั้งต้นแก้ฝี แก้หนองในปอด รักษาปอดบวม ไข้มาลาเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะ ขับนิ่ว ขับระดูขาว แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ฝีฝักบัว แผลเปื่อย หรือการใช้เป็นยาภายนอก ก็ใช้พลูคาวทั้งต้นตำพอกเพื่อลดการอักเสบ ลดอาการช้ำบวมสำหรับคนที่กระดูกหัก  ส่วนใบ แก้บิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร และหนองใน ส่วนราก ขับปัสสาวะ รักษาริดสีดวงทวาร

ชาวบ้านทางภาคเหนือ นิยมเรียกว่าผักคาวตอง เนื่องจาก ต้นและใบ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ มีกลิ่นคาวรุนแรงคล้ายคาวปลา ใต้ใบจะมีสีแดงอ่อนไปจนถึงสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากใบพลู และได้รับความนิยมในประเทศจีนอย่างมากเรียกว่าเป็นพืชที่นิยมใช้เป็นยาในการรักษาโรคหลายขนาดและเป็นอาหารชั้นดี พลูคาว เป็นพืชที่พบได้ในพื้นที่อากาศเย็น เช่น ในภาคเหนือของไทย เทือกเขาหอมาลัย อินเดีย จีน เวียดนาม ลาว เกาหลี และ ญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริมจากพลูคาวจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของน้ำสมุนไพร เนื่องจากมีการค้นพบว่า สีแดงที่อยู่หลังใบพลูคาวเป็นตัวชีวัดว่ามีเภสัชสาร(ยา) มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย เนื่องจากมีจุลินทรีย์และแลคโตบาซิลลัสสายพันธุ์หนึ่ง สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานดีขึ้นได้ ทั้งยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและต่อต้านเนื้องอก ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้ยังพบว่า ในพลูคาวมีสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงไต จึงมีผลช่วยขับปัสสาวะ ต้านเชื้อรา และแบคทีเรีย ทั้งยังมีการศึกษาพบว่า พลูคาวมีฤทธิ์ต้านไวรัส และฤทธิ์ในการทำลายเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองถึง 5 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ มะเร็งสมอง มะเร็งลำไส้ มะเร็งเม็ดเลือดขาว

นอกจากนี้ พลูคาวยังมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์การต้านการอักเสบที่โดดเด่น โดยออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Cyclooxygenase เช่นเดียวกับยาแก้ปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ดังนั้นจึงเป็นสมุนไพรอีกชนิดที่สามารถใช้ในการกินเพื่อบำรุงสุขภาพและใช้เป็นยารักษาโรคได้หลากหลายตามประสบการณ์การใช้ที่มีมายาวนาน

ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ในการใช้อยู่มาก แต่พลูคาวก็ยังเป็นสมุนไพรที่ ยังไม่มีการศึกษารองรับถึงความปลอดภัยมากนัก ดังนั้นควรกินในขนาดที่เหมาะสม หรือกินเป็นอาหาร และระวังการกินในปริมาณสูง โดยเฉพาะในรูปผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ในปริมาณสูง เพราะมีรายงานว่าอาจเกิดอาการบวมน้ำ และเป็นพิษต่อตับและไตได้ รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ และให้นมบุตร ผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ไม่ควรรับประทาน

สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ปรึกษาเพิ่มเติมกับแพทย์แผนไทยผ่านคลินิกออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz