วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย คณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและคนพิการ จัดการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน ๑๕๐ คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยขณะนั้นมีจำนวนผู้ที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุคิดเป็นร้อยละ ๑๖ หรือ ประมาณ ๑๑ ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ ๖๖ ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี ๒๕๖๔ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ ๒ เท่าตัวภายในระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงได้กำหนดให้เรื่องสิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ขององค์กรระหว่างปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๕ โดยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุอย่างรอบด้านด้วยวิธีการไต่สวนสาธารณะ และจัดทำเป็น “(ร่าง)ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะต่อร่างข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุสอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิของผู้สูงอายุที่เป็นอยู่จริง
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและ
คนพิการ นำเสนอร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ สรุปว่า กสม. ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ สำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” นั้น คณะทำงานฯ ได้ใช้วิธีการไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจากพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น งานวิชาการ การลงพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา องค์กรหรือชมรมผู้สูงอายุ และนักวิจัยที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งแบบสำรวจเรื่องปัญหาการละเลยทอดทิ้ง การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ และกลไกการปกป้องคุ้มครอง ไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างฯ
โดยร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุที่ กสม. ได้จัดทำขึ้น ประกอบด้วย ประเด็นข้อเสนอแนะในสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ๗ ด้าน สรุปได้ดังต่อไปนี้ (๑) “สิทธิในที่อยู่อาศัย”
รัฐควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเหมาะสม (๒) “สิทธิด้านสุขภาพ” รัฐควรจัดให้มีบุคลากร/แผนกด้านการรักษาเฉพาะที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ และควรมีมาตรการจูงใจให้มีผู้สมัครเป็นผู้จัดการดูแล (Care Manager) และผู้ดูแล (Care Giver) ผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น การสนับสนุนค่าตอบแทนที่เหมาะสม
(๓) “หลักประกันรายได้” รัฐควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ โดยรัฐควรพัฒนารูปแบบการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีระเบียบที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยควรกำหนดให้มีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุไม่เกินวันที่ ๕ หรือภายในสัปดาห์แรกของเดือน (๔) “สิทธิในการมีงานทำ” รัฐควรพิจารณาขยายอายุเกษียณราชการเป็น ๖๕ ปีโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ และควรเร่งพิจารณาจัดทำมาตรฐานการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างรายชั่วโมงที่เหมาะสมกับวัย
(๕) “สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต” อปท. ควรมีหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพผู้สูงอายุ
(๖) “การคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุจากการถูกทอดทิ้งและการแสวงประโยชน์” รัฐควรสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังคุณธรรมให้บุตรมีความรับผิดชอบดูแลบิดามารดาเพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ และควรจัดให้มีบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับ (Day Care) ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่สมาชิกอื่นต้องออกไปทำงานระหว่างวัน ทั้งนี้ ควรปรับวงเงินการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นเพียงพอแก่การยังชีพอยู่ได้ และ (๗) “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในกรณีภัยพิบัติ” ควรมีการระบุกลุ่มเปราะบางรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของแต่ละพื้นที่ และกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างชัดเจน
นางประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในภาพรวมของร่างข้อเสนอแนะฯ สรุปว่า รัฐบาลควรให้ อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน โดยให้หน่วยงานส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานและกำกับดูแล โดยรัฐควรกำหนดช่องทางหลักในการร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการแจ้งปัญหา และควรมีการทบทวนบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน นอกจากนี้รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย
“การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยเป็นข้อท้าทายสำคัญในเวลานี้และในอนาคตที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศที่กำลังจะมีผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ การสัมมนาในครั้งนี้ กสม. จะได้นำข้อมูลความคิดเห็นของทุกฝ่ายไปปรับปรุงแก้ไขร่างข้อเสนอแนะฯ ให้มีความครอบคลุมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นางประกายรัตน์กล่าว
เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ