ลงราชกิจจาแล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกทุกส่วนของกัญชา กัญชง พ้นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก และเมล็ดกัญชา พร้อมชูเป็นพืชเศรษฐกิจ

อย. เผยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนของกัญชา กัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และเมล็ดกัญชง รวมถึงสารสกัด CBD และกากที่เหลือจากการสกัดซึ่งต้องมีปริมาณ THC ไม่เกิน 0.2% และน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย และการผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งนี้ ต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กรณีนำเข้าทำได้เฉพาะเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง นอกเหนือจากนี้นำเข้าได้โดยเป็นยาเสพติด ชี้แจงเหตุที่ยังปลดทุกส่วนออกจากยาเสพติดไม่ได้เพราะติดอนุสัญญาระหว่างประเทศ พร้อมชูกัญชา กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงมติคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ในประเด็นการจัดทำ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เพื่อปลดล็อกส่วนของกัญชาและ กัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดย ไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเรียนว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว เป็นการระบุว่าสิ่งใดจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 และสิ่งใดที่ยกเว้น ซึ่งกัญชาและกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก ราก และ เส้นใย รวมถึง สารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบและกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2, เมล็ดกัญชงน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และอื่น ๆ ได้ ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา กัญชง ทั้งนำไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น ส่วนการนำเข้ากัญชา กัญชง สามารถทำได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้น เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดตามประกาศนี้

ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งนี้ เหตุที่ยังปลดทุกส่วนของต้นกัญชา กัญชงออกจากยาเสพติดไม่ได้ เนื่องจากติดอนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น การปลูกกัญชาและกัญชงยังคงต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด แต่เมื่อปลูกไปแล้วส่วนที่มีสาร THC ต่ำไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องทำลายทิ้ง โดยผู้ขออนุญาตจะต้องแจ้ง อย. ว่าจะนำส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดไปใช้ประโยชน์อย่างไร ส่วนการนำกัญชาไปใช้จะต้องได้มาจากผู้รับอนุญาตที่ถูกกฎหมาย โดยตรวจสอบได้จาก https://www.fda.moph.go.th หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ 1556 กด 3

—————————-