‘ข้าวโพดช็อป’ กลุ่มวิสาหกิจฯ จ.ลพบุรี ผลสำเร็จของการรวมกลุ่ม สร้างรายได้ ตลาดฟาร์มโคต้องการสูง

นายชีวิต เม่งเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การปลูกพืชอาหารสัตว์ เป็นการเพิ่มแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ที่สามารถพัฒนาเป็นอาหารหยาบ หรืออาหารหมักสำหรับสัตว์ ซึ่งปัจจุบันผู้เลี้ยงปศุสัตว์มีความต้องการมาก ขณะที่การผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้น การปลูกพืชอาหารสัตว์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร ไม่ว่าจะปลูกเพื่อเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มของตนเองเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร หรือปลูกเพื่อจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน โดยหนึ่งในพืชอาหารสัตว์ที่น่าสนใจและตลาดมีความต้องการสูง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีอายุเก็บเกี่ยว 80 – 85 วัน หรือที่เรียกว่า “ข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก” นอกจากจะสามารถปลูกในพื้นที่นาไม่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถนำมาทำเป็นข้าวโพดหมัก หรือที่เรียกว่า “ข้าวโพดช็อป” จำหน่ายได้ราคาดี หรือนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นอาหารผสมสำเร็จรูปที่เกิดจากการนำอาหารหยาบ และอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม (TMR)

สำหรับจังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งเลี้ยงโคนมอันดับต้นๆ ของภาคกลาง จึงมีความต้องการใช้ข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักในรูปแบบของข้าวโพดช็อป ปริมาณ 30,000 ตัน/ปี ซึ่งจังหวัดลพบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 355,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตได้ 254,738 ตัน นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้น และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการผลผลิตร่วมกัน สศท.7 จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก กรณีศึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อปตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการรวมกลุ่มเพื่อปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักและนำไปผลิตเป็นข้าวโพดช็อปจำหน่ายแบบครบวงจร จากการสัมภาษณ์ นางสุริยา เลิศสรานนท์ ประธานกลุ่มฯ บอกเล่าว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันมีสมาชิก 227 ราย แต่เดิมนั้นเกษตรกรมีรายได้หลักจากการปลูกพืชไร่ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน แต่พืชดังกล่าวสร้างรายได้เพียงปีละ 1 ครั้ง จึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชไร่ที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นลง คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากสามารถปลูกและสร้างรายได้จากการจำหน่ายมากกว่าปีละ 1 ครั้ง แต่ก็ประสบกับปัญหาแหล่งกักเก็บน้ำมีไม่เพียงพอ เมื่อเกิดภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงในช่วงติดดอกออกฝักทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปัญหา ประกอบกับจังหวัดลพบุรีเป็นแหล่งเลี้ยงโคนม โคเนื้อที่สำคัญ จึงมีความต้องการใช้พืชอาหารสัตว์ รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานเกษตรอำเภอท่าหลวง และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาให้คำแนะนำ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตข้าวโพดช็อปเพื่อจำหน่ายเป็นพืชอาหารสัตว์ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว หากพื้นที่ใดมีน้ำเพียงพอเกษตรกรก็จะสามารถปลูกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง

ด้านสถานการณ์การผลิตและการตลาด ในการผลิตพบว่า กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้ใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต” โดยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงสัญญาซื้อขาย (MOU) กับสหกรณ์ต่างๆ ทั้งภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ภายนอกจังหวัด ได้แก่ สหกรณ์โคนมสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สหกรณ์โคนมปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์โคนมมวกเหล็กจังหวัดสระบุรี ฯลฯ ส่วนอีกร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายให้กับสหกรณ์ภายในจังหวัดลพบุรี ได้แก่ สหกรณ์โคนมพัฒนานิคม สหกรณ์โคนมชัยบาดาล สหกรณ์โคนมท่าวุ้ง สหกรณ์โคนมหนองรี และฟาร์มโคขุน อำเภอท่าวุ้ง สำหรับการผลิตข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก (ข้าวโพดช็อป) พบว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก 2,927 ไร่ มีต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 6,117 บาท/ไร่/รอบการผลิตสามารถผลิตเป็นข้าวโพดช็อปได้ 8 ตัน/ไร่ รวมที่ผลิตได้ทั้งหมด 23,416 ตัน/รอบการผลิต (1 ปี สามารถผลิตได้ 3 รอบ) ให้ผลตอบแทน12,400 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 6,283 บาท/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบของการสับบด (ข้าวโพดช็อป) เฉลี่ย 1.55 บาท/กิโลกรัม นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจฯ ยังมีการจำหน่ายปลีกข้าวโพดช็อปหน้าฟาร์มในรูปแบบบรรจุถุงขนาด 25 กิโลกรัม ราคาถุงละ 55 บาท และอัดเป็นก้อนพร้อมแล็ปพลาสติกขนาด 50 – 70 กิโลกรัม ขนาด 300 – 400 กิโลกรัม และขนาด 800 – 900 กิโลกรัม ราคาตันละ 2,400 บาท

ผู้อำนวยการ สศท.7 กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับการปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก นอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ข้าวโพดต้นสดยังเป็นอาหารหยาบที่มีคุณภาพดีในการนำไปใช้ในฟาร์มโค และที่สำคัญกระบวนการเก็บเกี่ยวจะสั้นลง สามารถปลูกได้ถึงปีละ 3 ครั้ง ทำให้เกษตรกรลดการเผาตอซังของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝัก หากมีแหล่งเพาะปลูกอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และแหล่งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางรายได้และตลาด อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรคมีการรวมกลุ่มกันปลูกข้าวโพดต้นสดพร้อมฝักและใช้หลักการตลาดนำการผลิตในการแปรรูปเป็นข้าวโพดช็อปจำหน่าย นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลดพื้นที่ไม่เหมาะสม ในการปลูกข้าวเปลี่ยนเป็นปลูกพืชอื่นที่เหมาะสมแทน จึงนับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการปรับตัวของเกษตรกร ในการเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม มีตลาดรองรับ และให้ผลตอบแทนสูง หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตข้าวโพดช็อป สามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวโพดช็อปตำบลหัวลำ เลขที่ 210 หมู่ที่ 5 ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่ นางสุริยา เลิศสรานนท์ ประธานกลุ่มฯ โทรศัพท์ 09 3321 4591 และ 08 1649 9440

……………………………………………