นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน โดยมี นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจรุณ มีสมบูรณ์ นายสมเกียรติ มณีสถิตย์ นายวิทวัส ภักดีสันติสกุล รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน และคณะผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน ให้การต้อนรับ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ณ กรมท่าอากาศยาน
นายถาวร เสนเนียม ได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามที่ได้มอบนโยบายไว้ ดังนี้
1. การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งยังมีโครงการที่ไม่ได้ลงนามผูกพัน จึงขอให้เร่งดำเนินการในส่วนที่มีความล่าช้า
2. มอบให้ ทย. จัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุที่งบประมาณตั้งแต่ปี 2557 – 2562 ถูกพับงบไป 12 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 228.9355 ล้านบาท โดยให้จัดทำของบประมาณในปี 2565 และให้นำงบประมาณในปี 2564 ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มาใช้ในโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ
3. การบริหารงบประมาณประจำปี 2564 จะต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน มีระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ยึดยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายของกระทรวงฯ
4. การจัดจ้างจัดซื้อ จะต้องมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง ซึ่งได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องของการทำงานขอให้พิจารณาโครงสร้างขององค์กรและการบริหารองค์กรให้มีความเหมาะสม ในส่วนของการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) นั้น ขอให้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมบัญชีกลาง นอกจากนี้การดำเนินการออกแบบขอให้มีคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ศึกษาการออกแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วน และหากพบปัญหาอุปสรรคระหว่างดำเนินงานให้ถอดบทเรียนสำหรับการทำงานในปีงบประมาณต่อไป
5. การจัดทำงบประมาณในปี 2565 ขอให้มีการกระจายให้เกิดความเท่าเทียมกับทุกสนามบินในทุกภูมิภาค
6. การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แก่ ผู้ประกอบการสายการบิน ผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน ขอให้พิจารณาเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อไปดำเนินการฟื้นฟูต่อไป
7. ขอให้เร่งรัด กำกับ ติดตามการดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานขอนแก่น ท่าอากาศยานนราธิวาส ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานร้อยเอ็ด และท่าอากาศยานอุบลราชธานี
8. การพิจารณาให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทย. โดยขอให้คณะทำงานดำเนินการพิจารณาด้วยความรอบคอบ
9. ขอให้กวดขันผู้ที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานเบตง ในการรักษาความปลอดภัย (ด้านอัคคีภัย) รวมทั้งบำรุงรักษาให้ปลอดจากปลวกหรือมอด เนื่องจากก่อสร้างด้วยไม้ไผ่
ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกท่าอากาศยานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ะระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ของกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. อย่างเคร่งครัด ด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิ ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และรักษาระยะห่าง
……………………………….