ชป.ตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมรับน้ำหลากจากตอนบนลงสู่เแม่น้ำตรัง จับตาเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

เช้าวันที่ 6 ธ.ค.63 นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดตรัง


นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบริเวณเทือกเขาบรรทัดและบริเวณบ้านนาหาร อ.นาโยง ทำให้เกิดน้ำท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ คืออำเภอเมืองตรัง บริเวณ ตำบลยางรัก และตำบลหนองตรุด กรมชลประทาน ได้เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความห่วงใยและกำชับให้ดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่สถานีวัดน้ำท่า x.56 บ้านท่าประดู่ อำเภอห้วยยอด ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 47 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ที่สถานี x.228 บ้านกลาง อำเภอเมือง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 85 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ที่สถานี x.234 บ้านป่าหมาก อำเภอเมือง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 84 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และสถานี x.47 บ้านท่าจีน อำเภอเมือง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 48 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นาบประพิศฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถานการณ์น้ำบริเวณสะพานสายตรัง-สิเกา หน้าโรงเรียนจุฬาราชวิทยาลัย ตลอดทั้งคืนที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำตรังให้ไหลลงสู่ทะเลอันดามันโดยเร็วที่สุด ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์น้ำในวันนี้(6 ธ.ค 63)พบว่ายังคงมีมวลน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากพื้นที่ทางตอนบนรวมถึงน้ำค้างทุ่งที่ไหลออกมารวมกันในแม่น้ำตรัง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังและขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนหรือหน่วยงายใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

…………………………….

ศูนย์ปฎิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
6 ธันวาคม 2563