เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563 : ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการแถลงข่าวและมอบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนโครงการนำร่องให้บริการเอกสารทางการศึกษาแบบดิจิทัล Digital transcript ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ อาคารถนนศรีอยุธยา พร้อมชูโครงการ Digital transcript เป็นการตอกย้ำการยกระดับการศึกษาไทยในยุค 4.0 เร่งผลักดันประเทศไทยสู่ Digital Transformation อย่างเต็มตัว
โครงการ Digital Transcript คือมิติใหม่ของแวดวงการอุดมศึกษาไทย โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจับมือร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร 3 แห่งคือ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งมหาวิทยาลัยนำร่องเดินหน้าใช้แนวทางการจัดการเอกสารทางการศึกษาแบบดิจิทัล (Digital Transcript) เข้ามาตอบโจทย์ในการบริหารจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน นิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้ทุกที่ ทุกเวลา และเกิดความคล่องตัวในโลกยุคปัจจุบัน โดยได้มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่มีความพร้อมร่วมมือเป็นหน่วย นำร่องให้บริการในปีการศึกษา 2563 ซึ่งนิสิตนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2563 นี้จะได้รับ Transcript ในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสมัครงานหรือเรียนต่อได้ทันที และจะขยายโครงการนี้ไปยังมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนรวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดกระทรวงอื่นๆ ทั่วประเทศ ได้ในอนาคต
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงฯ เผยว่า “โครงการ Digital Transcript ที่ได้ร่วมผลักดันโดย อว. ภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมหาวิทยาลัยนำร่องทั้ง 23 มหาวิทยาลัย รวมถึงที่จะขยายไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศในอนาคตนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างมหาศาล เพราะเป็นระบบที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นิสิตนักศึกษาจะสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จาก Digital Transcript ของตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง ทุกที่ทุกเวลา และที่สำคัญ ไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการเก็บรักษาเอกสารในรูปแบบกระดาษอีกต่อไป อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ต้องรับ Digital Transcript จากนิสิตนักศึกษาจะขานรับโครงการนี้เป็นอย่างดี ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้อาจจำเป็นต้องมีการใช้งาน Transcript ในรูปแบบกระดาษควบคู่ไปด้วย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปจนมีความคุ้นชินและเชื่อมั่นในความมั่นคงปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของ Digital Transcript อย่างเต็มที่ สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนผู้ใช้บัณฑิตก็จะปรับเปลี่ยนมาใช้งาน Digital Transcript อย่างเต็มรูปแบบเช่นเดียวกัน อว.และสถาบันอุดมศึกษาไทย พร้อมที่จะก้าวสู่ยุค Digital Transformation ในอนาคต”
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีแนวคิดอย่างชัดเจนในเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนการบริหารงานและการให้บริการของหน่วยงานในสังกัดรวมทั้งมหาวิทยาลัยให้เป็นดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ได้รับบริการทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งโครงการ Digital Transcript จะเป็นโครงการสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อก้าวข้าสู่ยุคของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารงานและการให้บริการนิสิต นักศึกษา ประชาชน และองค์กรต่าง ๆ อว. ยินดีสนับสนุนโครงการ Digital Transcript อย่างเต็มที่ พร้อมร่วมสร้างมาตรฐานและความพร้อมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต” ปลัดกระทรวงฯ กล่าวในตอนท้าย
ผู้บริหารของหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ดร.สุพจน์ เธียระวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธัชวีร์ ลีละวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายสารสนเทศและวิทยาเขตกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะทำงานกำหนดมาตรฐานการจัดทำเอกสารสำคัญทางการศึกษาในรูปแบบดิจิทัล นางสาววิริยา เนตรน้อย ที่ปรึกษาการพัฒนาระบบบริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมีผู้บริหาร อว. อธิการบดีและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก