อว.นัด 76 มหาวิทยาลัยชี้แจงแนวทางขับเคลื่อน 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย

อว.ชี้แจงแนวทางการดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัยให้กับ 76 มหาวิทยาลัย เพื่อสร้างความเข้าใจภาพรวมโครงการและนำเสนอคู่มือในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องขับเคลื่อนพร้อมกับจ้างงานบัณฑิตใหม่และประชาชนจำนวน 60,000 คน ลงพื้นที่ 3,000 ตำบลพร้อมกับบุคลากรมหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จัดทำฐานข้อมูลชุมชน รวมทั้งพัฒนาชุมชนตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยจะขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการตลอดปี 2564

3 ธันวาคม 2563 : ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากูล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินการโครงการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ ว่า การขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ครั้งนี้ เป็นการบูรณาการศักยภาพด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ อว. เพื่อร่วมพลิกฟื้นสร้างประเทศ มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล พัฒนาชุมชนตามปัญหาและความต้องการของชุมชนเอง จัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน ตลอดจนจ้างงานนักศึกษาบัณฑิตใหม่และประชาชน 60,000 คน เพื่อการมีงานทำและร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน โดยจะเชื่อมต่อระบบการจัดการกับภาคีเครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาพื้นที่เข้าด้วยกัน ที่จะตอบโจทย์เพื่อหาจุดแข็งและลดความซ้ำซ้อน โดยจะใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือสำคัญ เป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนตลอดไป

รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2564 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณสนับสนุนตำบลละ 800,000 บาท โดยขับเคลื่อนการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบล มีกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ คือการบริหารจัดการที่ดี ระบบการตลาดและฐานข้อมูลตำบลในทุกมิติ ส่วนการประเมินผลลัพธ์ของโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จะเน้น 3 รูปแบบคือ การประเมินศักยภาพพื้นที่ทำงานและพัฒนาตำบลของแต่ละมหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตำบล หลังจบโครงการจะมีเป้าหมายให้ 1,500 ตำบล มุ่งสู่ความพอเพียงที่สามารถยกระดับขึ้นเป็นตำบลพอเพียงได้ / 750 ตำบลจะสามารถเป็นตำบลต้นแบบ ที่เศรษฐกิจดีมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นรูปธรรมร้อยละ 5 / และอีก 750 ตำบล จะสามารถอยู่รอดจากความยากลำบากได้ระดับหนึ่งและมีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น โดยพื้นที่ 1 ตำบล จะต้องมีแบบรายงานผลการดำเนินโครงการตามตัวชี้วัด 1 ชุด ดังนั้นมหาวิทยาลัยจะต้องรายงานผลทุกตำบลที่ได้ลงไปทำงาน และมีแบบรายงานในภาพรวมมหาวิทยาลัยด้วย แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่ายก็ต้องรายงานผลของเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก โดย อว.จะประมวลและรายงานผลการดำเนินโครงการทั้งหมดในภาพรวมประเทศแก่รัฐบาล เนื่องจากได้เชื่อมโยงการประเมินโครงการไว้กับการใช้จ่ายงบประมาณ

“การจ้างงานนักศึกษา บัณฑิตใหม่และประชาชน 60,000 คน เพื่อการมีงานทำและร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน ในโครงการนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยได้เริ่มรับสมัครแล้ว จะคัดเลือกและเริ่มสัญญาจ้างตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป โดย อว.มีค่าตอบแทนให้ด้วย ผู้สนใจติดตามข่าวสารการสมัครได้จากเว็บไซด์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ร่วมโครงการได้” รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวในตอนท้าย

………………………………………………….