เจ้าพระยาน้ำน้อย วอนช่วยกันประหยัดน้ำ /ด้านภาคใต้ พร้อมรับฝนตกหนักในระยะนี้ สั่งเฝ้าจับตา 24 ชั่วโมง

วันที่ 30 พ.ย. 63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนนี้ ณ ห้องประชุม SWOC อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำปัจจุบัน(30พ.ย.63) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 48,762 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ  เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 24,669 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,587 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 51 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 5,891 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 2,396 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 474 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12 ของแผนฯ ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้เกษตรกรบางส่วนปลูกข้าวนาปีได้ล่าช้า ซึ่งกรมชลประทาน จะให้ความช่วยเหลือจนกว่าเกษตรกรจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จ โดยไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อยไม่สามารถสนับสนุนได้ อีกทั้งขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย

ทางด้านพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 3 ธ.ค. 63 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ด้วยการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

30 พฤศจิกายน 2563