สภ.อัมพวา รับลูก ผบ.ตร. ลดความเสี่ยงคุกคามทางเพศในคนพิการ จับมือ สสส.ภาคีเครือข่าย รณรงค์เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

สภ.อัมพวา รับลูก ผบ.ตร. ลดความเสี่ยงคุกคามทางเพศในคนพิการ จับมือ สสส.ภาคีเครือข่าย รณรงค์เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปลุกพลังสังคม ปกป้องเด็ก สตรีและคนพิการจากความรุนแรง และลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ชู“อัมพวาโมเดล” เดินหน้าทำงานเชิงป้องกัน

​วันที่ 28พฤศจิกายน 2563 ที่ ลานกิจกรรม อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม พล.ต.ต.สุเมธ ปุณสีห์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานเปิดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ภายใต้แนวคิด “ปลุกพลังสังคม ปกป้องคนพิการจากความรุนแรง และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” จัดโดย คณะทำงานอัมพวาโมเดล สถานีตำรวจภูธรอัมพวา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทั้งนี้ได้เดินรณรงค์รอบตลาดน้ำอัมพวา เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรง โดยภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “รวมพลังปกป้องคนพิการจากความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม” และมอบหนังสือ “บาดแผลของดอกไม้” ซึ่งรวบรวมเรื่องราวคนพิการ 15 คน ที่ถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศ ให้กับแกนนำอัมพวาโมเดล

พ.ต.อ.เผด็จ ภู่บุปผากาญจน ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอัมพวา กล่าวว่า สำหรับภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาคนพิการจากความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงทางสังคมนั้น เบื้องต้นต้องบอกก่อนเลยว่า อัมพวาโมเดลของเราเป็นการทำงานในชิงรุก เป็นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กพิเศษ 2. กลุ่มเด็กทั่วไปที่มีโอกาสจะถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ 3. กลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงที่จะก่ออาชญากรรม และ 4.กลุ่มที่มีความรุนแรงในครอบครัว เป้าหมายในการทำงานคือ เราต้องยุติความรุนแรงในทุกรูปแบบ

​“ส่วนการทำงาน เราจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมว่าแต่ละหน่วยงานมีบทบาทกันอย่างไร ต้องทำความเข้าใจในบทบาทของหน่วยงานตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้มีเคสที่เป็นกรณีศึกษาที่ได้มาจากศูนย์เด็กพิเศษ อ.อัมพวา แจ้งเคสมาให้เรา เช่น เคสเด็กพิเศษที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทีมงานจะเข้าไปดูว่า บ้านมีความมั่นคง ปลอดภัยหรือไม่ คนในบ้านต้องการอะไร เพื่อความปลอดภัย ซึ่งทุกหน่วยงานจะเข้าไปช่วยเหลือในทุกมิติ เช่น ด้านสาธารณสุขจะดูเรื่องของสุขภาพ พม.จะดูเรื่องสิทธิและสวัสดิการ พื้นที่จะช่วยเรื่องความช่วยเหลือ ส่วนตำรวจจะเน้นหนักไปที่การป้องกันทำงานเชิงรุกมากกว่า ที่จะทำหลังเกิดเหตุไปแล้ว” พ.ต.อ.เผด็จ กล่าว

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ เพื่อปลุกพลังสังคมให้เห็นความสำคัญ และมีส่วนร่วมป้องกันแก้ปัญหาความรุนแรง การถูกคุกคามทางเพศ และปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดยเฉพาะปัจจัยกระตุ้นจากยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลกระทบร้ายแรง เป็นต้นเหตุของทุกปัญหา ทั้งอาชญากรรม อุบัติเหตุ ความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ยิ่งในกลุ่มเปราะบางที่เป็นคนพิการยิ่งน่าเป็นห่วง

​“สสส.ยินดีอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการทำงานในรูปแบบ อัมพวาโมเดล ปกป้องคนพิการถูกกระทำความรุนแรงและปัจจัยเสี่ยงทางสังคม และพื้นที่อัมพวาถือว่าเห็นผลเป็นรูปธรรม เกิดการบูรณาการการทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ละความรุนแรง ลดความเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทราบว่ามีการทำงานในเรื่องลดอุบัติเหตุ รณรงค์สวมหมวกนิรภัยอย่างเข้มข้นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่ไม่ใช่มองแค่ประเด็นเดียว อะไรที่ชุมชน พื้นที่จะได้ประโยชน์ลดปัญหาสังคมได้จะถูกหยิบยกมาพิจารณา หวังว่าเวทีนี้จะเสริมพลังให้คนทำงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ มีความตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันมากขึ้น” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว

​ด้านนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯได้ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นคนพิการหลายกรณี ส่วนใหญ่ พิการทางสติปัญญา บกพร่องทางด้านร่างกาย รวมถึงบางรายพิการซ้ำซ้อน โดยผู้กระทำเป็นญาติ คนใกล้ตัวหรือคนข้างบ้าน เช่น พ่อเลี้ยง พี่ชาย เพื่อนบ้าน ซึ่งเด็กหญิงพิการ อายุต่ำกว่า18 ปี มีแนวโน้มถูกล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนเพิ่มมากขึ้น การทำงานค่อนข้างยากเนื่องจากคนพิการมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน การช่วยเหลือหรือป้องกันตัวเองและสื่อสารไม่ได้ในกรณีคนพิการหูหนวก ตาบอด และมีความกลัวจากการถูกข่มขู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตำรวจต้องหาวิธีในการสื่อสารกับผู้เสียหายเพื่อเข้าถึงความจริง อาจต้องประสานกับผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ ล่าสุดเราได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือเด็กพิการอายุ 17 ปี ชาวจังหวัดพิษณุโลก ที่ถูกญาติข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ จนกระทั่งนำไปสู่การจับกุมผู้ก่อเหตุเมื่อสองวันที่ผ่านมา ซึ่งก็พบประเด็นช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมหลายประการ ที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังต่อไป

ในประเด็นคนพิการ เราพบข้อมูลว่ามีความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าคนทั่วไปถึงสิบเท่า และจากการที่มูลนิธิฯได้ร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานอัมพวาโมเดล ได้ร่วมกันเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กพิการช่วงสามเดือนที่ผ่านมา พบการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับเด็กและครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด หน่วยงานต่างๆได้เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันตามอำนาจหน้าที่ มีการติดตามต่อเนื่อง ถือเป็นการทำงานเชิงป้องกันที่น่าสนใจ ซึ่งต้องขอบคุณ ท่านผู้กำกับ สภ.อัมพวา ที่เป็นแกนกลางชักชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันสะท้อนปัญหาและวางแผนการทำงานร่วมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวเด็กและครอบครัว ไม่ใช่แค่รอไปจัดการปัญหาที่ปลายเหตุ

​นางเอ (นามสมมติ) ญาติเหยื่อพิการที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กล่าวว่า หลานสาวอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นเด็กพิการถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ หลังเกิดเหตุได้เข้าแจ้งความและขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จนสามารถจับผู้ก่อเหตุมารับโทษได้ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับครอบครัวใคร ไม่ว่าคนปกติ คนพิการ เราก็ไม่มีสิทธิไปทำร้าย ข่มเหง ล่วงละเมิดทางเพศเขา และตนขอเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง รณรงค์สร้างความตระหนักให้สังคมหยุดความรุนแรง หยุดคุกคามทางเพศต่อเด็กสตรี และการได้มาเห็นการทำงานเชิงรุก ป้องกันก่อนเกิดปัญหาแบบที่อัมพวา ทำให้รู้สึกมีความหวังและอยากให้เรื่องดีๆแบบนี้ไปเกิดในพื้นที่ชุมชนของตัวเองบ้าง

*******************************************************************