กรมควบคุมโรค “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” ประจำสัปดาห์ที่ 48 (วันที่ 29 พ.ย. – 5 ธ.ค. 63)

“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 – ปัจจุบัน ได้รับรายงานจมน้ำเสียชีวิตรวม 5 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย ทั้งหมดเป็นเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 5-13 ปี จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ 2 เหตุการณ์ เสียชีวิต 4 ราย นครราชสีมา ลพบุรี และนราธิวาส จังหวัดละ 1 เหตุการณ์ เสียชีวิตจังหวัดละ 1 ราย บริเวณที่เกิดเหตุเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ คือ แม่น้ำ 5 ราย สระน้ำหลังวัด 1 ราย และแหล่งน้ำขุดเพื่อการเกษตร 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กลงไปเล่นน้ำกันเอง ไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมดูแล เป็นแหล่งน้ำที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชน สำหรับเหตุการณ์เด็กจมน้ำในจังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นอุทาหรณ์ เพราะเกิดเหตุการณ์เด็กจมน้ำ 2 เหตุการณ์ ใน 2 วัน ติดต่อกัน (วันละ 1 เหตุการณ์) ทำให้มีเด็กเสียชีวิตรวมกัน 4 ราย ในรอบ 1 สัปดาห์ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียน เด็กมักจะพากันไปเล่นน้ำ โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ปกครองทราบ”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าเนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กปิดภาคเรียน อาจมีการชักชวนกันไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือแหล่งกักเก็บน้ำยังมีปริมาณน้ำอยู่มาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเหตุเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำปีละกว่า 1,500 คน หรือเฉลี่ยวันละ 4 คน โดยปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากการทรงตัวไม่ดี ทำให้ล้มในท่าที่ศีรษะทิ่มลงได้ง่าย จึงมักพบเด็กจมน้ำในแหล่งน้ำภายในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน เช่น ถังน้ำ กะละมัง บ่อน้ำ แอ่งน้ำ ส่วนในกลุ่มเด็กอายุมากกว่า 5 ปี เด็กจะเริ่มออกไปเล่นนอกบ้าน ประกอบกับผู้ดูแลในชุมชน ไม่รู้สึกว่าแหล่งน้ำมีความเสี่ยงต่อเด็ก ดังนั้น บริเวณที่พบเด็กจมน้ำได้บ่อยคือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ คลอง บึง หรือแหล่งน้ำที่ขุดเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ ควรมีมาตรการป้องกัน สอนให้เด็กรู้จักความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากแหล่งน้ำ ห้ามไม่ให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง สอนให้เด็กว่ายน้ำเป็น รู้จักวิธีเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ และรู้จักวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำที่ถูกต้อง โดยเมื่อพบคนตกน้ำหรือจมน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น ควรเรียกผู้ใหญ่ให้มาช่วย โยนหรือยื่นอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ และชุมชนควรมีการติดตั้งรั้วล้อมรอบ ป้ายคำเตือนหรือตะแกรงเหล็กปิดด้านบนของแหล่งน้ำเสี่ยง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”

*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563