วัยทองคืออะไร? สาวๆหลายคนอาจจะรู้สึกไม่ค่อยถูกใจนักกับคำนี้ “หญิงวัยทอง” หรือ ผู้หญิงที่อยู่ในในช่วงหมดประจำเดือน ทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมน ร่างกายจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนลดลง โดยจะนับช่วงภาวะวัยทองคือช่วงที่ประจำเดือนไม่มาอย่างน้อย 1 ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 45-55 ปี ขึ้นกับภาวะสุขภาพหรือกรรมพันธุ์ของแต่ละคนว่าจะเกิดในอายุเท่าไหร่
ในระยะนี้ ผู้หญิงบางคนจะเริ่มมีอาการไม่สุขสบาย เช่น นอนไม่ค่อยหลับ อารมณ์แปรปรวน ร้อนวูบวาบ ปวดเมื่อย มีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุบริเวณช่องคลอด(อักเสบ แห้ง) อีกทั้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน
การดูแลในช่วงภาวะ “วัยทอง”
โดยทั่วไปจะให้ฮอร์โมนทดแทน หรือการให้ยาบางชนิด เพื่อช่วยบรรเทาอาการตามอาการ แต่อย่างไรก็ตาม การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมนทดแทน แม้จะช่วยลดอาการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อโรคที่ไวกับฮอร์โมน เช่น โรคมะเร็งเต้านม และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ ดังนั้น อีกแนวทางที่เป็นทางเลือกเพื่อช่วยเสริมการดูแลสุขภาพ คือการเลือกอาหาร ที่ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนได้ สำหรับอาหารที่จะแนะนำต่อไปนี้ คือกลุ่มผลิตภัณฑ์จาก “ถั่วเหลือง” นั่นเองค่ะ
การกินอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง ซึ่งมีไอโซฟลาโวนเป็นส่วนประกอบ และมีสูตรโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างสม่ำเสมอ จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่ต้องการใช้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ แล้วยังอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับฮอร์โมน รวมทั้ง ลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย มีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า การกินโปรตีนถั่วเหลือง ที่มีไอโซฟลาโวนหรือการเสริมไอโซฟลาโวน สามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระลูกและลดอาการร้อนวูบวาบที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือนได้
ข้อมูลงานวิจัย มีหลายการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมาก ทั้งในแง่ปริมาณรวมของถั่วเหลือง และที่มีปริมาณไอโซฟลาโวน ตั้งแต่ 35-134 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งในรูปของแป้งถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลือง หรือสกัดใส่แคปซูล จะมีผลช่วยลดกลุ่มอาการที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ (hot flashes) อาการนอนไม่หลับ กังวล ซึมเศร้า และอาการช่องคลอดแห้ง
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในชาวญี่ปุ่นที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่มีปริมาณโปรตีนของถั่วเหลืองสูง (P-Conglycinin 4-8 กรัมต่อวัน) สามารถลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ ในผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด >100 mg/dL ได้ และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีผลช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ มีผลต่อการเรียนรู้และจดจำ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น
วิธีรับประทาน
ปริมาณไอโซฟลาโวนที่แนะนำ คือ 50-100 มิลลิกรัม/วัน เทียบเท่ากับน้ำถั่วเหลืองประมาณ วันละ 2-4 แก้ว หรือเต้าหู้ประมาณวันละ 2-4 ก้อน
อย่างไรก็ตาม หากท่านเข้าสู่ช่วงหมดประจำเดือนแต่ไม่มีอาการวัยทองดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกินอาหารเพื่อทดแทนฮอร์โมน โดยสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลายชนิด ในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็เป็นวิธีปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ได้ ส่วนคนที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำควรรวังการกินถั่วเหลืองในปริมาณมาก เนื่องจากมีข้อมูลรายงานพบว่าการกินปริมาณมากอาจกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ ควรกินในปริมาณพอเหมาะ
สถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร
คลินิกออนไลน์ https://lin.ee/47PRVjiFz
———-
อ้างอิง
นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ : 314 ผู้หญิงวัยทองกับประโยชน์ของถั่วเหลือง
https ://www .pharmacy, mahidol.ac-th/th/knowledge/articl e/2/ถั่วเหลือง-ประโยชน์-วัยทอง-menopause/
Tranche S, Brotons C, Pascual de la Pisa B, Macias R, Hevia E, Marzo-Castillejo M. Impact of a soy drink on climacteric symptoms: an open-label, crossover, randomized clinical trial. Gynecol Endocrinol 2016;32(6):477-82.
Nahas EA, Nahas-Neto J, Orsatti FL, Carvalho EP, Oliveira ML, Dias R. Efficacy and safety of a soy isoflavone extract in postmenopausal women: a randomized, double-blind, and placebo-controlled study. Maturitas 2007;58(3):249-58.
Albert A, Altabre c, Baro F, Buendia E, Cabero A, Cancelo MJ, et al. Efficacy and safety of a phytoestrogen preparation derived from Glycine max (L.) Merr in climacteric symptomatology: a multicentric, open, prospective and non-randomized trial. Phytomedicine 2002;9(2):85-92.
Nishimura M, Ohkawara T, Sato Y, Satoh H, Takahashi Y, Hajika M, et al. Improvement of triglyceride levels through the intake of enriched-p-conglycinin soybean (nanahomare) revealed in a randomized, double-blind, placebo-controlled study. Nutrients 2016;8(8).