นฤมล ส่งทีมงาน ลุยน่าน ปูทางฝึกอบรมด้านดิจิทัล

รมช.แรงงาน มอบหมายคณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ลงพื้นที่จังหวัดน่าน หารือร่วมเจ้าอาวาสวัดโป่งคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และผู้นำชุมชน เตรียมจัดคอร์สฝึกอบรมแรงงานเกษตร สู่เกษตรดิจิทัล

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า มอบหมายให้ นายพิรัส ศิริขวัญชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านยุทธศาสตร์ และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตนเองรับผิดชอบในการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แคทบัซซ์ ทีวี จำกัด ลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย เพื่อร่วมหารือการพัฒนาทักษะฝีมือด้านอีคอมเมิร์ชให้แก่แรงงานในพื้นที่จังหวัดน่าน ทั้งแรงงานภาคการเกษตร แรงงานนอกระบบ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน และรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมหารือด้วย


นายพิรัส กล่าวว่า ทีมงานได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับแรงงานหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดโป่งคำและพื้นที่ตำบลดู่พงษ์ เยี่ยมชมศูนย์หัตถกรรมเครื่องประดับเงิน ดอยซิลเวอร์แฟคตอรี่ อ.ปัว กลุ่มคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป บ้านถั่วลิสง อ.เมือง และศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา ต.ไชยสถาน อ.เมือง ศูนย์ฝึกอาชีพแก่คนพิการ ต.ผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน เพื่อรับฟังความต้องการความช่วยเหลือในด้านพัฒนาทักษะฝีมือ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ภายใต้การกำกับดูแลของรมช.แรงงาน เร่งดำเนินการขับเคลื่อน พร้อมนำภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุนการฝึกทักษะฝีมือด้านดิจิทัล ลงพื้นที่ด้วย ภาคเอกชนที่ลงพื้นที่ในครั้งนี้ สามารถจัดฝึกอบรมให้แก่แรงงานทุกกลุ่มของจังหวัดน่านได้อย่างเข้มข้น โดยสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน (สพน.น่าน) รับไปดำเนินการกำหนดวัน เวลา สถานที่ฝึกอบรมและประสานงานต่อกับผู้นำชุมชน


ด้าน นายประทีป ทรงลำยอง รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 สนพ.น่าน ได้รับเป้าหมายพัฒนาทักษะให้แก่แรงงานในพื้นที่ จำนวน 1,115 คน ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานภาคเกษตรด้วย การดำเนินงานเพียงหน่วยงานเดียว ไม่สามารถตอบสนองความต้องการ จึงต้องบูรณาการกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ในส่วนนี้ได้เน้นย้ำและมอบหมายให้ สนพ.น่าน ประสานกับภาคีเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อร่วมกันพัฒนาแรงงานในพื้นที่ จัดหาหลักสูตรที่ทันต่อเทคโนโลยี ต่อยอดเรื่องของรายได้ได้ด้วย และตรงกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมทักษะฝีมือให้สามารถสมัครเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการหรือทักษะที่สามารถนำไปประกอบอาชีพอิสระได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีการติดตามประเมินผลหลังจากจบฝึกไปแล้ว ผู้ผ่านการอบรมไปประกอบอาชีพอะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตร หรือนำไปวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการต่อไป สำหรับครั้งนี้จังหวัดน่านได้รับโอกาสที่ดี มีภาคเอกชนที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านดิจิทัล มาสนับสนุนการฝึกด้วย ซึ่งคาดว่าจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป