‘พาณิชย์’ เตรียมลงพื้นที่เชียงของ หารือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดน

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเดินทางลงพื้นที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย รับฟังความเห็นจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง หาแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามแผนงานกรอบแม่โขง-ล้านช้าง ตั้งเป้าขยายการค้าสู่ 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) จะเป็นประธานการประชุมหารือรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และลงพื้นที่สำรวจบริเวณอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ สปป. ลาว และมีเส้นทาง R3A ผ่าน เพื่อเชื่อมสู่จีนตอนใต้ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ตามโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ระหว่างสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม

นางอรมน เสริมว่า การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับจัดสรรเงินกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ให้ศึกษาและพัฒนาให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดน (Cross Border Economic Zone)  ระหว่างสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการดังกล่าว จะเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย “เรื่องศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน” ทั้งนี้ ในเบื้องต้นเห็นว่า อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีความโดดเด่น ตั้งอยู่บนเส้นทาง R3A ที่เชื่อมไทย สปป.ลาว และจีน จึงเป็นพื้นที่ศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนระหว่างไทย-จีน-สปป.ลาว-เมียนมา ได้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมหารือรับฟังความเห็น และลงพื้นที่สำรวจบริเวณด่านเชียงของ ฝั่งไทย และด่านห้วยทราย ฝั่ง สปป.ลาว จุดเชื่อมต่อสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 ตลอดจนท่าเรือน้ำลึกเชียงของ

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า เชียงรายเป็น 1 ใน 10 จังหวัด ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยปัจจุบันหน่วยงานในพื้นที่ได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและการลงทุน รวมทั้งอยู่ระหว่างก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้า และเปิดให้บริการ One Stop Service ด้านการลงทุน ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ พื้นที่ดังกล่าวจึงมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมข้ามพรมแดนระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง ให้ประสบความสำเร็จได้ เช่นเดียวกับที่มีประเทศในกลุ่มแม่โขง-ล้านช้าง บางประเทศได้จัดทำเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างกันแล้ว เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมระหว่างบ่อหาน (โมฮั่น) ของจีน และบ่อเต็นของ สปป.ลาว เป็นต้น ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงห่วงโซ่ภูมิภาคระหว่างจีนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาในปี 2560 การค้าระหว่าง 6 ประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่ากว่า 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 16 และในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) ของปี 2561 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 79,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 24.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง ได้ตั้งเป้าที่จะขยายการค้าระหว่างกันเป็น 250,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563

———————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์