16 พฤศจิกายน 2563 : ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระวิสัยทัศน์ในการวางรากฐานการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับการรักษาพยาบาลให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกลให้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมทั้งมีพระประสงค์ที่จะยกระดับการศึกษาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย เน้นการพัฒนานวัตกรรมค้นคว้าสร้างองค์ความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการวิจัยที่เป็นมาตรฐานสากล และนำมาปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในทุกถิ่นฐานอย่างยั่งยืน
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และคณะผู้บริหารฯ (อว.) ได้เข้าเยี่ยมสถานศึกษาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะผู้บริหารและนักศึกษาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ การค้นคว้าวิจัย การศึกษา และบริการทางสุขภาพที่จัดตั้งขึ้นจากพระวิสัยทัศน์และพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ณ สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ รักษาการอธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ รุจิรวัฒน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
การนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและนำเสนอข้อมูลภาพรวมโครงการของส่วนงานต่างๆในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากนั้นคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้นำเสนอข้อมูลการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการสาธารณสุขของประเทศไทยของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ แก่คณะรัฐมนตรีฯ พร้อมทั้งโครงการสำคัญของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประเทศชาติและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อาทิ โรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ เป็นต้น พร้อมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้งานด้านการศึกษาและการเรียนการสอนกับทาง อว. จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และคณะ ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ทั้งในส่วนของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์และสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ได้เข้าพบพูดคุย โดยการเข้าเยี่ยมชมวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างบัณฑิตทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ สมดัง วิสัยทัศน์ “เรียนรู้ วิจัย เพื่อสร้างปัญญาและผู้นำทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” ของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ต่อไป
รมว.อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยระดับสูง ที่มีความโดดเด่นด้านการแพทย์ รวมถึงวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีความก้าวหน้าระดับนานาชาติในหลายเรื่อง รวมถึงด้านบัณฑิตศึกษาที่มีคุณภาพสูงมาก มีการผลิตบัณฑิตทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่เฉพาะแต่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังผลิตให้กับนานาชาติอีกด้วย กระทรวง อว. จะพยายามสนับสนุนให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันที่นำหน้าในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มากที่สุด และจากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนักศึกษาของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ในครั้งนี้ รมว.อว. ได้เน้นย้ำให้นักศึกษามีความสนใจในการทำวิจัยให้มากขึ้น เพราะคนในช่วงวัยระหว่าง 18-22 ปี เป็นช่วงวัยที่มีความคิดริ่เริมสร้างสรรค์ ถ้ามีโอกาสก็ขอให้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยรุ่นเยาว์ให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังย้ำให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม คือเพื่อนร่วมเรียน เพื่อนร่วมสถาบัน เพื่อนร่วมวิทยาลัย สร้างความผูกพัน สร้างความรัก สร้างความร่วมมือกัน และใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ คือการใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่น่าสนใจ ถ้ามีเวลาที่มีคุณภาพมากขึ้น นักศึกษาก็จะเจริญก้าวหน้าในอนาคตกระทรวง อว. จะร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ในการทำการทดลอง การค้นคว้าร่วมกับกับส่วนงานวิจัยต่างๆ ของกระทรวงให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะสร้างระบบศาสตราจารย์วิจัยขึ้น ให้กับคนที่ทำวิจัยดีเด่นแต่ไม่ได้สอนให้มีโอกาสได้เป็นศาสตราจารย์