ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร : (16 พ.ย. 2563) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม ถนนวิจัยรุ่นเยาว์ ปีที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาและบ่มเพาะศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนไทย ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายพิเศษ การฝึกอบรม กิจกรรมค่าย และการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝน เรียนรู้ และทำวิจัยภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทย เป็นการบ่มเพาะเยาวชนเหล่านี้สู่เส้นทางการเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กิจกรรมนี้ จัดโดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย สวทช. ซึ่งกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2563 เพื่อบ่มเพาะเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ให้มีโอกาสได้เรียนรู้ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา คือ กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับเหรียญรางวัลในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี 2562 ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 50 คน (ชาย 30 คน หญิง 20 คน) จากโรงเรียน 20 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ฟังบรรยายพิเศษ เรื่อง “ภูมิรู้นิเวศ : นิเวศวิทยาทำไมต้องรู้” บอกเล่าความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการในระบบนิเวศ เพื่อปูพื้นฐานให้นักเรียนมีความเข้าใจในเรื่องระบบนิเวศวิทยา ก่อนลงมือทำกิจกรรม “Terrarium ระบบนิเวศในภาชนะใส” ร่วมกับผู้ปกครอง จากนั้นจะได้ฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การหาหัวข้อโครงงานวิจัย กิจกรรม “พืชดอกที่เล็กที่สุดในโลก” จะได้เรียนรู้การวางแผนการศึกษา ”ไข่น้ำ” ซึ่งเป็นพืชดอกที่เล็กที่สุดในโลก ผ่านกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยฝึกให้เกิดการสังเกต การตั้งสมมติฐาน และการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ผ่านการทำงานทีม เรียนรู้ Unplugged Coding ซึ่งเป็นการเรียนเขียนโปรแกรมโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ กิจกรรมสุดท้าย จะได้แข่งขันการทำจรวด เป็นการเรียนรู้หลักการทางวิศวกรรม ฟิสิกส์และการออกแบบ ผ่านการออกแบบและประดิษฐ์จรวดของตัวเอง ตามโจทย์ที่ได้รับ เพื่อนำไปทดสอบการยิง ในรูปแบบของการยิงจรวดแอลกอฮอล์ ที่อาศัยการจุดแบบเผาไหม้ในชั่วพริบตา และทัศนะศึกษานอกสถานที่ ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ
หลังจากกิจกรรมถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ทางโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะคัดเลือกเยาวชน จำนวน 25 คน จากกิจกรรมดังกล่าว เพื่อเข้ารับทุน JSTP-SCB ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สวทช. และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเยาวชนจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนต่อเนื่องในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้แก่ การสนับสนุนทุนพัฒนาตนเอง การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ
ด้าน ด.ญ.ธนิกาญจน์ ตันตราธิปไตย หรือ น้องมิว จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมว่า ตนรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ เพราะชอบทำกิจกรรมลักษณะแบบนี้อยู่แล้ว ชอบการทดลองและได้ลงมือทำเองทำให้สนุกและจดจำได้ดี ซึ่งทางโรงเรียนก็มีโครงงานต่างๆให้ทำ และจะได้เอาความรู้ในกิจกรรมที่ตัวเองได้เข้าร่วมมาใช้ในโครงงานด้วย อีกหนึ่งความรู้สึกประทับใจจาก ด.ช.สิปปกร รัตนธน หรือ น้องกำปั้น จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช บอกว่าตัวเองชอบการทดลองและชอบกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งมันน่าสนใจและการที่ได้มาร่วมกิจกรรมนี่ทำให้ได้ลงมือทำเองด้วย เวลาได้ลงมือทำอะไรสักอย่างมันจะมีสมาธิในการทำและสนุกมากกับกิจกรรมต่างที่ตนได้รับในครั้งนี้
………………………………….