รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสมาคมอาชีวอนามัย สนับสนุนนโยบายงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ส่งเสริมนักอาชีวอนามัยในสถานประกอบการทำงานร่วมนายจ้าง ลูกจ้าง และทีมสาธารณสุข ให้สถานประกอบการมีการประเมิน และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บจากการทำงาน สร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยทุกอาชีพทุกคน ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดการประชุมสมาคมอาชีวอนามัย ว่า อัตราการบาดเจ็บจากการทำงานในประเทศไทยยังมีแนวโน้มสูง ข้อมูลจากกองทุนเงินทดแทนในปี 2562 พบว่า มีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน 94,906 ราย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครร้อยละ 27.47 ต่อปี ส่วนความรุนแรงของการประสบอันตราย ส่วนใหญ่หยุดงานไม่เกิน 3 วันคิดเป็นร้อยละ 68.76 ต่อปี หยุดงานเกิน 3 วันร้อยละ 29.30 ต่อปี สูญเสียอวัยวะบางส่วนร้อยละ 1.28 ต่อปี เสียชีวิตร้อยละ 0.67 ต่อปี และทุพพลภาพร้อยละ 0.01 ต่อปี สาเหตุที่ทำให้บาดเจ็บเกิดจากวัตถุหรือสิ่งของตัด/บาด/ทิ่มแทง ร้อยละ 23.91 ต่อปี อวัยวะที่ได้รับอันตรายสูงสุด คือ นิ้วมือ/นิ้วหัวแม่มือ ร้อยละ 29.47 ต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 25-29 ปีร้อยละ 17.71 ต่อปี โดยสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 1,000 คน ประสบอันตรายสูงสุดร้อยละ 13.52 ต่อปี
ดร.สาธิตกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับงานอาชีวอนามัยและการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน (Decent Work For All) ตามนโยบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals–SDGs) ภายในปี 2573 ที่มี 17 เป้าหมาย โดยเรื่องนี้อยู่ในเป้าหมายที่ 8 คือ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ทำงานที่เป็นต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าวและผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย ซึ่งวัดผลจากอัตราการบาดเจ็บจากการทำงาน จำแนกตามเพศและสถานะพลเมือง เนื่องจากผู้ทำงานทุกคนถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ หากส่งเสริมให้มีงานที่เหมาะสมและจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เอื้อต่อสุขภาวะคนทำงานทุกอาชีพและทุกคน จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากการทำงาน การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการทำงาน โดยเฉพาะงานที่เสี่ยงอันตราย ทำให้ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทั้งค่ารักษาพยาบาลและการขาดแคลนคนทำงานจากภาวะพิการและเสียชีวิต
ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนให้นักอาชีวอนามัย (HSE) ในสถานประกอบการ ทำหน้าที่ประสาน 3 ฝ่ายคือ นายจ้าง ลูกจ้าง และทีมสาธารณสุข ได้แก่ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และพยาบาลอาชีวอนามัย เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการประเมินและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพสำหรับทุกอาชีพและทุกคน โดยเฉพาะลดการบาดเจ็บจากการทำงาน นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังได้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เพื่อกำหนดกลไกการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และให้บุคคลที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่แจ้งหรือรายงานเกี่ยวกับการพบหรือมีเหตุสงสัยว่าเกิดโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกรมควบคุมโรค เพื่อให้สามารถดำเนินการกับสถานการณ์การเกิดโรคดังกล่าวได้ทันท่วงที
********************************* 12 พฤศจิกายน 2563